1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. กรมวิชาการเกษตร ขับเคลื่อนมาตรการ GAP Monkey Free …

กรมวิชาการเกษตร ขับเคลื่อนมาตรการ GAP Monkey Free Plus อย่างต่อเนื่องอบหนังสือรับรอง แปลงผลิตมะพร้าวอินทรีย์ ไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว จังหวัดสุราษฎร์ธานี

วันที่ 24 มีนาคม 2566 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ติดตามการดำเนินงาน การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตมะพร้าวอินทรีย์ โดยทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมกันในการดูแลแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้มีการจัดแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการกำจัดแมลงศัตรูพืชในแบบธรรมชาติ คือ การใช้แตนเบียนในการช่วยกำจัดหนอนหัวดำ ให้กับกลุ่มเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง
 
กรมวิชาการเกษตร ให้คำแนะนำเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เข้าร่วมโครงการ “GAP Monkey Free Plus” ซึ่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เปิดตัวโครงการดังกล่าว ในเวทีประชุมมะพร้าวโลก “Consultative Virtual Meeting On Thailand Proposal for GAP Monkey Free Plus ซึ่งดำเนินการโดย International Coconut Community (ICC) ว่า กระบวนการไม่ใช้แรงงานสัตว์ (ลิง) จะเป็นระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต มาตรการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสมาชิก ICC และ Third Party สร้างความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมมะพร้าวส่งออกไทย ซึ่งก็มีเกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
 
ทั้งนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เป็นประธานในพิธีมอบหนังสือรับรองแปลง “Organic Thailand Monkey Free Plus และ GAP Monkey Free Plus” แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวอินทรีย์และไม่ใช้ลิงเก็บผลผลิต จำนวน 6 ราย มะพร้าวปลอดภัยและไม่ใช้ลิงเก็บผลผลิต จำนวน 1 ราย ณ แปลงมะพร้าวอินทรีย์ จ. สุราษฎร์ธานี ​เพื่อยืนยันว่าการปลูกมะพร้าวของไทยไม่มีการใช้แรงงานลิง และเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ พร้อมมอบนโยบายส่งเสริมให้มีการปลูกมะพร้าวใหม่ หรือปลูกทดแทนในสวนเดิมด้วยพันธุ์ดี และสนับสนุนมาตรการ GAP Monkey Free Plus เพื่อเป็นฐานที่มั่นคงต่อการต่อยอดในอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย
 
นอกจากนี้ยังพบว่า วิธีการใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยการใช้ไม้สอยผลมะพร้าว นับเป็นการสร้างอาชีพให้แก่แรงงานในท้องถิ่น โดยมีค่าตอบแทนการเก็บเกี่ยวผลผลิตมะพร้าวลูกละ 2 บาท เฉลี่ยสร้างผลตอบแทนให้แรงงานวันละ 4,000 บาท (2,000 ลูก/วัน) นับเป็นอาชีพที่ค่อนข้างได้รับค่าตอบแทนสูง ขณะที่เจ้าของสวนมะพร้าว นอกจากจะมีรายได้จากมะพร้าว แล้วยังมีการทำสวนผสมผสานและการเลี้ยงผึ้งโพลงในสวนมะพร้าวอินทรีย์ สร้างรายได้ให้เกษตรกร ในระบบการผลิตดังกล่าวสูงถึง 100,000 บาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งการทำสวนมะพร้าวอินทรีย์แบบผสมผสาน รูปแบบนี้จะมีการปลูกพลู หมาก ไม้ผล (ทุเรียน มังคุด และเงาะ) ร่วมกับมะพร้าว สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 60,000 ต่อไร่ต่อปี เช่นเดียวกับการเลี้ยงผึ้งโพลง ในสวนมะพร้าวที่วางเลี้ยงผึ้งโพลง 40 รังต่อไร่ เฉลี่ยให้ผลผลิตน้ำผึ้ง 50-60 ขวดต่อปี มีรายได้จากการเลี้ยงผึ้งโพลงประมาณ 40,000 บาทต่อปี การทำสวนมะพร้าวอินทรีย์แบบผสมผสาน ร่วมกับการเลี้ยงผึ้งโพลงเสริมรายได้นอกจากจะสร้างความหลากหลายให้แก่สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างความยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรมเป็นมรดกมีค่าส่งต่อให้ลูกหลานรุ่นต่อไป
 
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จะนำต้นแบบการผลิตมะพร้าวอินทรีย์แบบผสมผสานรูปแบบนี้ ไปพัฒนาต่อยอดทำเป็นโมเดลการผลิตพืชแบบผสมผสาน (มะพร้าว พืชร่วม และการเลี้ยงผึ้ง) 1 ไร่ 1 แสน ในการจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยี Field day ภาคใต้ ครบรอบ 50 ปี กรมวิชาการเกษตร ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2566 ต่อไป
 
#กรมวิชาการเกษตร #DOATOGETHER
#50ปีกรมวิชาการเกษตร

***************

Related
แชท
Skip to content