1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. ลงพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังการระบาดแมลงศัตรูมะพร้าว พ…

ลงพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังการระบาดแมลงศัตรูมะพร้าว พร้อมขับเคลื่อนการผลิตพืชอัตลักษณ์พื้นถิ่น “ลางสาดลิปะใหญ่” ในพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงค์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมคณะ ลงพื้นที่ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ติดตามการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร ในการเฝ้าระวังการระบาดของศัตรูมะพร้าวที่สำคัญ อันได้แก่ แมลงดำหนาม หนอนหัวดำ ด้วงแรด และ ด้วงงวง ซึ่งมีสาเหตุจาก สภาพอากาศที่แห้งแล้งค่อนข้างยาวนาน ซึ่งปัจจัยดังกล่าว เหมาะสมต่อการระบาดของแมลงศัตรูพืช
การระบาดของศัตรูมะพร้าวส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตและพื้นที่ปลูก และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว อีกทั้งภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในแหล่งที่มีมะพร้าวเป็นสัญลักษณ์ดึงดูดนักท่องเที่ยว แมลงศัตรูมะพร้าวที่สำคัญในปัจจุบัน ได้แก่ หนอนหัวดำมะพร้าว แมลงดำหนามมะพร้าว ด้วงแรด และด้วงงวง
 
กรมวิชาการเกษตร นำเข้าแตนเบียน Goniozus nephantidis ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุม จากประเทศศรีลังกา เข้ามาทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการควบคุมหนอนหัวดำในประเทศไทย จากการทดสอบประสิทธิภาพในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีความปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบกับแมลงที่มีประโยชน์ในกลุ่มศัตรูธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ให้ได้แตนเบียนให้ได้ปริมาณมาก ทำได้โดยใช้หนอนหัวดำและหนอนผีเสื้อข้าวสารเป็นแมลงอาศัย และนำไปทดสอบประสิทธิภาพของแตนเบียนในการควบคุมในสภาพธรรมชาติ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง ในการเพิ่มศักยภาพในการแก้ไขปัญหาแมลงศัตรูมะพร้าวอย่างยั่งยืน
 
ในการนี้นายเศวต วิชัยดิษฐ์ ประธานศูนย์ศึกษาและเรียนรู้สายพันธุ์มะพร้าว (โรงเรียนมะพร้าว) และกลุ่มเกษตรกรให้การต้อนรับ ให้ข้อมูลการผลิตมะพร้าวแบบดั้งเดิม โดยการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว โดยชีววิธี แบบผสมผสาน เช่น การทำความสะอาดสวน การจัดการแมลงศัตรูมะพร้าว การควบคุมแมลงดําหนามและหนอนหัวดํา ด้วยแตนเบียน และการตัดทางใบ การควบคุมด้วงแรดและด้วงงวง ด้วยกองกับดักราเขียวเมตาไรเซียม และ กับดักฟีโรโมน ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยและทดสอบประสิทธิภาพแล้วโดยกรมวิชาการเกษตร
 
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร มีการขับเคลื่อนมาตรการตรวจรับรองแปลง GAP Monkey free plus สยบปัญหาใช้ลิงเก็บมะพร้าว ประกาศให้ทั่วโลกรู้ ไทยไม่ใช้ลิงเก็บมะพร้าว ผนึกหน่วยงานภาครัฐ สมาคม ชมรมและบริษัทผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าว สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีแปลงที่ผ่านการตรวจประเมิน เป็นแปลงมะพร้าวแกง 1,372 แปลง รวมพื้นที่ 13,546 ไร่ และ แปลงมะพร้าวอ่อน 533 แปลง รวมพื้นที่ 6,597 ไร่ มีเป้าหมายจะตรวจให้ครอบคลุม แปลงเกษตรกรที่ได้รับการรับรอง GAP แล้ว อีกประมาณ 4,526 แปลง 47,125 ไร่ ภายในเดือน กันยายน 2566 นี้
จากนั้นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะ ได้เยี่ยมชมและรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับ ลางสาดสายพันธุ์ลิปะใหญ่ ซึ่งมีเอกลักษณ์ หวาน​​ หอม​ ผลใหญ่​ เปลือกบางไม่มียาง​ และเมล็ดเล็ก​ การผลิตลางสาด ใช้เทคโนโลยีพัฒนาการผลิตและการใช้ประโยชน์ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 ทำการวิจัยแบบ “ตลาดนำการวิจัย” ยกระดับพืชท้องถิ่นเป็นพืชอัตลักษณ์ เพื่อให้มีการนำไปใช้ประโยชน์และเกิดประสิทธิผลสูงสุดเกษตรกรและพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
 
#กรมวิชาการเกษตร#DOATOGETHER
#50ปีกรมวิชาการเกษตร
 
***************
 

Related
แชท
Skip to content