1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. อธิบดีกรมวิชาการเกษตรร่วมงานเกษตรภาคเหนือ ชูพันธุ์…

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรร่วมงานเกษตรภาคเหนือ ชูพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตห้อมช่วยสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน

วันที่ 9 ธันวาคม 2565 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เข้าร่วมงาน “เกษตรภาคเหนือ”ครั้งที่ 10 ณ ศูนย์วิจัย สาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการของกรมวิชาการเกษตร และร่วมกิจกรรมสาธิตการมัดย้อมผ้าหม้อห้อม

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ห้อม ใช้เป็นวัตถุดิบย้อมผ้าหม้อห้อมและผ้าพื้นเมืองของภาคเหนือตอนบน โดยสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อกันมา ส่วนที่ใช้ประโยชน์ คือ ลำต้น กิ่งก้าน ใบ และยอด นำมาย้อมผ้าขาวให้เป็นสีน้ำเงินอ่อนจนถึงน้ำเงินเข้ม  ผ้าหม้อห้อมที่ย้อมสีธรรมชาติมีจุดเด่น คือ เป็นผ้าที่ใช้ได้ทน ระบายอากาศได้ดี  ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้สารเคมีสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ จึงเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี  ทำให้วัตถุดิบไม่เพียงพอสำหรับย้อมสีผลิตภัณฑ์ชุมชน เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ห้อมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผลผลิตไม่เพียงพอ ในการนำมาใช้ย้อมผ้า  จึงมีการนำสารเคมีมาใช้ทดแทนห้อมซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค  ประกอบกับเกษตรกรยังขาดความรู้ ในการผลิตห้อม

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ กรมวิชาการเกษตร  ได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตห้อมมาตั้งแต่ปี 2554-ปัจจุบัน เพื่อคัดเลือกสายต้นและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตห้อมที่เหมาะสมในพื้นที่ รวมทั้งการนำห้อมไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและทันสมัย เกษตรกรสามารถนำห้อมพันธุ์ที่ได้คัดเลือกได้จากงานวิจัย และนำเทคโนโลยีการผลิตห้อมตั้งแต่เตรียมพื้นที่ปลูก การปลูก  การดูแลรักษา และการนำห้อมไปใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร  ซึ่งเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวห้อมสดได้ 4 ครั้งต่อปี ได้ผลผลิตห้อมสด 3,844 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาผลผลิตห้อมสดกิโลกรัมละ 20 บาท ต้นทุนการผลิต 7,063 บาทต่อไร่  รายได้ 38,436 บาทต่อไร่ และให้ผลตอบแทนสุทธิ 31,373 บาทต่อไร่  

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวสู่เกษตรกร จำนวน 1,350 ราย ในพื้นที่ 300 ไร่ ได้ผลผลิตห้อมสด 673 ตัน มูลค่า 6.7 ล้านบาท  หากจำหน่ายเป็นเนื้อห้อมมีมูลค่า 33.6 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการมีผลิตวัตถุดิบห้อมเพียงพอในการผลิตผ้าหม้อห้อม พื้นที่ปลูกห้อมพบในจังหวัดแพร่ พะเยา  เชียงราย เชียงใหม่ และลำพูน  โดยการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากจุดเด่นความได้เปรียบของทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อัตลักษณ์ไทย และความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถพัฒนาต่อยอดด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นเกษตรคุณภาพสูง ขับเคลื่อนเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมการนำอัตลักษณ์พื้นถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการผลิตสินค้า และสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)  ผ้าหม้อห้อมแพร่ สร้างความเข้มแข็ง ความเชื่อถือในคุณภาพ และมาตรฐานสินค้า ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวทาง BCG จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่น สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ให้สูญหาย และอนุรักษ์พันธุกรรมของห้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

Related
แชท
Skip to content