1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. รมช มนัญญาลงพื้นที่ จันทบุรี แจ้งข่าวดี กรมวิชาการ…

รมช มนัญญาลงพื้นที่ จันทบุรี แจ้งข่าวดี กรมวิชาการเกษตร เปลี่ยนใบรับรอง GAP รูปแบบใหม่ ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งประเทศแล้ว ขอให้พี่น้องเกษตรกร ผู้ประกอบการ มั่นใจการส่งออกผลไม้ไทยราบรื่นทะลุแสนล้านต่อเนื่อง

วันที่ 8 ธ.ค. 2565 นางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามนโยบายและเข้าร่วมงานพืชสวนก้าวหน้า ครั้งที่ 17/2565 (HORTEX/2022) ณ สำนักวิจัยพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) และ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี โดยระหว่างการพบปะพี่น้องเกษตรกร ชาวสวน และผู้ประกอบการ ได้แจ้งข่าวดีว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเปลี่ยนใบรับรอง GAP เป็นรหัสรับรองรูปแบบใหม่ ให้กับพืชทุกชนิดในระบบ GAP (รวมผลไม้ส่งออกไปจีน 13 ชนิด) ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งประเทศแล้ว ซึ่งเสร็จเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้เกือบ 1 เดือน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยข้อมูลว่า พืชทุกชนิดในระบบที่ได้รับรอง GAP มี 299,076 แปลง จำนวนเกษตรกร 185,808 ราย พื้นที่รวม 1,860,454.31 ไร่ ได้เปลี่ยนใบรับรอง GAP เป็นรหัสรับรองรูปแบบใหม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดยในจำนวนนี้ 62% เป็น ใบรับรอง GAP ของผลไม้ที่ส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนให้กับประเทศจีนแล้ว 13 ชนิด (มะม่วง ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด ชมพู่ มะพร้าว กล้วย สัปปะรด ขนุน เงาะ ส้มโอ และ มะขาม) ที่มีจำนวนแปลง GAP ทั้งหมด 185,803 แปลง จำนวนเกษตรกร 167,027 ราย พื้นที่รวม 1,566,420 ไร่ ซึ่งไม่เพียงแต่ใช้ประกอบการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีนเท่านั้น ยังสามารถส่งไปขายยังทุกประเทศทั่วโลก กรมวิชาการเกษตรได้การันตีแล้วว่าแปลงพืชเหล่านี้เป็นไปตามมาตรฐาน GAP (มกษ. 9001) ซึ่งเท่าเทียมกับ ASEAN GAP ที่ได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้าทั่วโลก
สำหรับใบรับรอง GAP รูปแบบใหม่พืชที่ส่งออกไปจีน กรมวิชาการเกษตร ได้ประสาน สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) เพื่อจัดส่งเลขทะเบียนแปลง GAP รหัสใหม่ รวมถึงการขึ้นทะเบียนแปลงและโรงคัดบรรจุที่ส่งออกไปจีน ให้สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) อัพเดทข้อมูลรหัส GAP ใหม่ดังกล่าวในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนให้เป็นปัจจุบัน รวมถึง เวียนข้อมูลให้กับด่านนำเข้าต่างๆ ภายในประเทศจีนเพื่อรองรับฤดูกาลส่งออกผลไม้ใหม่ให้ทันตามกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนและลำไยที่จะเริ่มมีผลผลิตในเดือน กุมภาพันธ์ ปีหน้า อีกทั้ง กรมวิชาการเกษตรได้ประสานกับอัครราชทูตการเกษตร ไทย ประจำกรุงปักกิ่ง เพื่อให้ช่วยติดตามเรื่องนี้กับฝ่ายจีนอย่างใกล้ชิด นำไปสู่การส่งออกผลไม้ไทยคุณภาพที่ราบรื่นสร้างรายได้ทะลุแสนล้านต่อเนื่อง
ใบรับรอง GAP รูปแบบใหม่ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต โดยรหัสรับรอง GAP รูปแบบใหม่จะระบุรหัสหน่วยรับรอง รหัสมาตรฐานการผลิต รหัสผู้ได้รับการรับรอง และมี รหัสจังหวัด รหัสชนิดขอบข่ายเพิ่มขึ้นมา ทำให้การตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นไปตามข้อกำหนดใน พรบ. มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ตามประกาศสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สร้างความมั่นใจให้ประเทศคู่ค้าที่ต้องการนำเข้าสินค้าที่มีคุณภาพความปลอดภัย และตรวจสอบที่มาแหล่งผลิตได้ เสริมสร้างการส่งออกให้เป็นไปอย่างยั่งยืน “มุ่งเป้า ผลไม้ไทย ผลไม้คุณภาพของโลก”
พร้อมกันนี้ในวันที่ 19 ธันวาคม 2565 กรมวิชาการเกษตรเตรียมจัดสัมมนา “ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ” (Premium Thai Durian) โดยมี รมช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาว มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นประธาน พร้อมด้วย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 250 คน ได้แก่ ผู้ประกอบการส่งออก ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุและตัวแทนผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไปจีน เพื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนสดของไทยเข้าใจในการผลักดันนโยบาย ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ (Premium Thai Durian) และได้รับความรู้ความเข้าใจ สามารถแสดงข้อมูลประกอบการยื่นคำขอใบรับรองสุขอนามัยพืช ได้อย่างถูกต้อง เข้าใจในกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ และรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกทุเรียนทั้งระบบ
Related
แชท
Skip to content