1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาระบบการ…

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออกระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

              เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ( นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์) หารือร่วมกับ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารการขนส่งสินค้าทางอากาศ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (นายคทา วีณิน) และคณะ เกี่ยวกับการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออกระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และโครงการจัดตั้งสถานที่สำหรับเตรียมสินค้าเกษตร และสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านช่องทางพิเศษ (Perishable Premium Lane; PPL)

              นายคทา วีณิน แจ้งที่ประชุมทราบว่า การดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงฯ และโครงการ PPL มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรก่อนการส่งออก (ทางอากาศ) ไปประเทศปลายทาง ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานระบบการตรวจสอบรับรองสินค้าเกษตร ลดระยะเวลาการตรวจสอบสินค้าก่อนการนำเข้า ซึ่งส่งผลให้สินค้าเกษตรมีความสดใหม่ และมีคุณภาพที่ดี รวมถึงลดการปฏิเสธการนำเข้าสินค้า ณ ประเทศปลายทาง โดยโครงการ PPL จัดเตรียมพื้นที่ให้บริการตรวจสอบสินค้าเกษตร และสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านช่องทางพิเศษ ณ บริเวณอาคารคลังสินค้า 4 (WH 4) ภายในเขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งอาคารดังกล่าวพร้อมเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2565

             นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ แจ้งที่ประชุมทราบเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตร (กวก.) คือ หน่วยงานราชการที่ให้การรับรอง (Competent Authority; CA) ต่อสินค้าเกษตรที่มีการส่งออก ซึ่งสินค้าดังกล่าวต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการนำเข้าของประเทศปลายทาง พร้อมนี้ กวก. ต้องพิจารณาความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดต่อการปฏิบัติงาน เช่น การส่งออกผลไม้บางชนิดไปสหรัฐอเมริกา ต้องผ่านการฉายรังสีกำจัดศัตรูพืชจากศูนย์ฉายรังสีที่กรมวิชาการเกษตรให้การยอมรับ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกา (ปฏิบัติงานในประเทศไทย) ทำหน้าที่ตรวจสอบผลไม้ดังกล่าวก่อนการส่งออก ส่งผลให้ผลไม้นั้นไม่ถูกตรวจสอบ ณ ด่านนำเข้าของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายต่อการปฏบัติงานของเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ช่วงเริ่มต้นของการส่งออกพืชภายใต้การดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงฯ และโครงการ PPL ควรเป็นพืชที่มีเงื่อนไขการนำเข้าไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน และเป็นพืชที่มีศักยภาพในการส่งออก โดยอาจพิจารณานำร่องส่งออกไปยังประเทศกลุ่มอ่าว เช่น ซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น

************

Related
แชท
Skip to content