1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. เสวนา “กรมวิชาการเกษตร กับการรับมือความมั่นคงทางอา…

เสวนา “กรมวิชาการเกษตร กับการรับมือความมั่นคงทางอาหารในสินค้าอ่อนไหวที่ต้องพึ่งพาการนำเข้า” วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ผ่านระบบ zoom meeting

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึง สถานการณ์ด้านการขาดความมั่นคงทางอาหารในปัจจุบันที่กำลังส่งผลทั่วโลก ทำให้บางประเทศที่เคยส่งออกอาหารกลับไม่มีนโยบายในการส่งออกสินค้าบางชนิด ที่เป็นต้นทุนอาหาร วัตถุดิบอาหารสัตว์ และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ 

บทบาทหน้าที่กรมวิชาการเกษตรจะต้องเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องพืชพรรณ ธัญญาหารที่ส่งออกเป็นหลัก จะต้องวางกลยุทธ์ ยุทธศาสตร์อย่างไร ในเรื่องความมั่นคงและความไม่มั่นคงทางอาหาร ราคาสินค้าเกษตร อาหาร และปัจจัยการผลิตที่แพงขึ้น รวมทั้งเรื่องเงินเฟ้อ มีศัพท์ใหม่ food inflation (ภาวะราคาอาหารเฟ้อ) ซึ่งน่าตกใจพอสมควร

กรมวิชาการเกษตร จึงอยากที่จะรับฟังจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อกรมฯจะได้เตรียมพร้อมทำงานรับมือ ซึ่งกรมฯจะมีการจัดประชุมเสวนางานวิชาการ รวมทั้งการจัดทำงบประมาณ ปี 2567 การปรับงบประมาณต่าง ๆ ในโครงการ การจัดลำดับความสำคัญในเรื่องที่จะทำงานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนั้นกรมวิชาการเกษตรจะขับเคลื่อนวาระด้านความมั่นคงทางอาหารในเวทีสากล เช่น ในการประชุม Asian seed conference การประชุม APEC และ การประชุมในเวทีต่าง ๆ ของ UN/FAO เป็นต้น ที่จะร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย

ดร.ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม (FAO, IFAD, WFP) และผู้อำนวยการสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ณ กรุงโรม กล่าวว่า ปัญหาความมั่นคงทางอาหารของโลก ได้ปรากฏเด่นชัดในปี 2565 ที่พบว่าดัชนีอาหารเพิ่มขึ้นกว่า 40% ดัชนีอาหารคำนวณมาจากธัญพืช น้ำมันพืช น้ำตาล เนื้อสัตว์ และนม เป็นต้น ในเวทีโลกกำลังให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นมาก เนื่องจากรัสเซียและยูเครน เป็นแหล่งผลิต ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เล่ย์ มันฝรั่ง น้ำตาล เมล็ดทานตะวัน และถั่วเหลือง อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก และรัสเซียยังเป็นแหล่งส่งออกแม่ปุ๋ยสำคัญของโลกด้วย

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทำให้ราคาน้ำมันและราคาอาหารพุ่งสูง อาหารสัตว์แพงขึ้น แต่ละประเทศจึงดำเนินนโยบายพึ่งตนเอง มาผลิตให้เพียงพอและลดการส่งออก หรือระงับการส่งออกสินค้าบางชนิด ซึ่งปัญหานี้คาดว่า จะมีไปอีก 2-3 ปี และแต่ละประเทศจะปรับนโยบายเรื่องความมั่นคงทางอาหาร

ข้อเสนอ คือ ไทยเราจึงควรเปลี่ยนวิธีคิดมาสู่การพึ่งตนเอง พัฒนาสร้างความแข็งแกร่งในประเทศ นำเข้าให้น้อยลง ทบทวนเรื่องการพึ่งการนำเข้าที่เห็นว่าได้ราคาถูกกว่าการผลิตเองในประเทศ มาเป็นการพึ่งการผลิตเองในประเทศ พัฒนาให้มีความหลากหลายของอาหาร ไม่ยึดติดกับชนิดพืชที่เป็นกระแสหลักที่โลกทำการค้าขายแต่เพียงอย่างเดียว พัฒนาการปลูกแบบหมุนเวียน และควรมีการทำความตกลง หาสมดุลระหว่างอกชนกับเกษตรกร ในเรื่องราคาผลผลิตให้มีเสถียรภาพ 

คุณอาทินันท์ อินทรพิมพ์ กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ให้ข้อคิด จีนดำเนินนโยบายการพึ่งตนเองมานาน และปัจจุบันยังมีนโยบาย Zero covid และยังล็อกดาวน์เมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ เมื่อรวมผลกระทบจากภาวะสงคราม ภาวะภัยธรรมชาติ โรคระบาดสัตว์ ทำให้เกิดผลกระทบหลายด้าน เช่น ต่อระบบการขนส่งที่ต้องใช้เวลานานขึ้น ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ การขนส่งที่แพงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้า-ส่งออกอาหารในอนาคต นอกจากนั้น ประเทศจีน มีการประกาศนโยบายจำกัดการส่งออกสินค้าบางรายการเพื่อสงวนไว้ในประเทศ เช่น ธัญพืช ปุ๋ยยูเรีย และปุ๋ยโพแทสเซียม ซึ่งจะทำให้เกิดการเก็งกำไร ราคาพลังงานแพง ปุ๋ยแพง อาหารแพง

ข้อเสนอ คือ ไทยเราควรพัฒนานำงานวิจัยหรือแนวทางที่จะนำมา สนับสนุนเกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น การผลิตเมล็ดพันธุ์ สายพันธุ์ ปัจจัยการผลิต เพื่อลดต้นทุน การใช้เครื่องจักรกล ใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการผลิต เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

คุณสรงฤทธิ์ เมฆานุรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท หนองธงฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า ปัญหาที่ได้รับผลกระทบต่อภาคปศุสัตว์ คือ ต้นทุนอาหารสัตว์ราคาแพงขึ้น เนื่องจากการพึ่งพาการนำเข้าอาหารสัตว์ที่ราคาแพงขึ้น โดยวัตถุดิบที่สำคัญ คือ คาร์โบไฮเดรต จากข้าวโพด โปรตีน จากกากถั่วเหลือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อาหารสัตว์ในภาคใต้ ที่โรงงานต้องขนวัตถุดิบจากภาคกลาง ทำให้ต้นทุนการผลิตจากการขนส่งแพงกว่าภาคกลาง 1,200-1,500 บาท/ตัน ภาคใต้มีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม จึงน่าจะมีการพัฒนาสร้างความมั่นคงทางอาหารด้านนี้

ข้อเสนอ คือ การส่งเสริมให้มีการปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ในภาคใต้ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ในพื้นที่นาร้าง ในพื้นที่ดินของหน่วยงานรัฐที่มีมากมาย ที่ควรสร้างความร่วมมือกัน การศึกษาชนิดพืชอื่น ๆ ที่จะมาทดแทนคาร์โบไฮเดรตจากข้าวโพด และทดแทนโปรตีนจากกากถั่วเหลือง และรัฐบาลควรมีนโนบายที่จะจัดให้เกิดความสมดุลและเกิดเสถียรภาพด้านวัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบ และต้นทุนอาหารสัตว์

คุณกัลยา เนตรกัลยามิตร ที่ปรึกษากรมวิชาการเกษตร และนายกสมาคมพาณิชย์สามัคคีเชียงใหม่ “หลักการ คือ no seed- no grain- no market- no food” การพัฒนาพืชให้พึ่งตนเองได้ต้องทำให้ครบวงจร เริ่มตั้งแต่นโยบายกรม ในการให้ความสำคัญ และสนับสนุนงบประมาณ ตัวอย่างเช่น ในถั่วเหลือง ที่ต้องนำเข้าถึง 99% เราต้องเริ่มจากพัฒนาเมล็ดพันธุ์คุณภาพ ซึ่ง seed center พิษณุโลกมีความพร้อมมากมีมาตรฐานระดับสากล และควรพัฒนา ศวม. เชียงใหม่ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี ให้ได้มาตรฐานไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้มี grain ให้เพียงพอ พร้อมกับสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ หาวิธีการที่จะกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาปลูกถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น นำเครื่องมือ นำความรู้ มาทำการผลิตให้ครบวงจร ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต ตามความต้องการของตลาด และเรื่องกลไกการกำหนดราคาที่เหมาะสม รวมทั้งการขยายการปลูกเป็นพืชหลังนา เช่น ระบบปลูกข้าว-ถั่วเหลือง-ถั่วเขียว เป็นต้น 

ศ.ดร.อรรถชัย จินตะเวช ที่ปรึกษากรมวิชาการเกษตร และอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้คำแนะนำว่า กรมวิชาการเกษตร ควรทำการวิจัยและพัฒนาด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยเริ่มจากกรมฯ ควรตั้งคณะทำงานแผนงานวิจัย ววน. ด้านความมั่นคงทางอาหาร ระดมความเห็นให้รอบด้าน ทำกรอบแผนงานวิจัย สร้างความร่วมมือกับชุมชน สร้างความร่วมมือกับหุ้นส่วนต่าง ๆ จัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ฐานข้อมูลพืช ฐานข้อมูลชุมชน ฐานข้อมูลทรัพยากรดิน จัดทำโครงการของบ สวก. และที่สำคัญคือการสร้างทีมวิชาการให้แข็งแกร่ง

Related
แชท
Skip to content