มนัญญาเดินหน้าติดตามงานตามนโยบายผลักดันงานวิจัยมันฝรั่งเร่งเพิ่มผลผลิตต้านทานโรคเน้นย้ำนโยบายตลาดนำการผลิตลดต้นทุนนำเข้าหัวพันธุ์เพิ่มรายได้เกษตรกร หลังได้รับรายงานผลผลิตยังไม่เพียงพอต้องนำเข้าหัวพันธุ์กว่า 6,500 ตัน แง้มปี 67 เตรียมปล่อยพันธุ์ใหม่ให้ผลผลิตสูง ต้านโรคเหี่ยวเขียว หวังช่วยลดนำเข้าหัวพันธุ์ได้อย่างยั่งยืน
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กรมวิชาการเกษตรปรับปรุงพันธุ์พืชที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก และเร่งขยายพันธุ์ให้เกษตรกรสามารถเพิ่มรายได้และลดต้นทุนของการนำเข้าพันธุ์จากต่างประเทศ เช่น มันฝรั่ง ซึ่งเป็นพืชที่ทำรายได้สูงให้แก่เกษตรกรโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือ โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันพื้นที่ปลูกได้ขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ เช่น ตาก เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง และบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น หนองคาย สกลนคร และเลย ซึ่งการปลูกมันฝรั่งพันธุ์โรงงานในประเทศไทยยังมีผลผลิตที่ไม่เพียงพอในการบริโภคภายในประเทศ จึงมีการนำเข้ามันฝรั่งเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูป จำนวน 46,355 ตัน และนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง 6,500 ตัน จากประเทศสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนนาดา เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น มาปลูกมากทุกปี
ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้สนับสนุนหัวพันธุ์มันฝรั่งพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรได้แก่พันธุ์เชียงใหม่ 1 และเชียงใหม่ 2 ซึ่งเป็นพันธุที่มีหัวกลมเนื้อในสีขาว–ขาวครีมให้ผลผลิตสูง 3,162-3,608 กก./ไร่ได้เกรดส่งเข้าโรงงานแปรรูป ซึ่งสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี โดยดำเนินการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งตามเทคโนโลยีการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งปลอดโรคของกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ได้หัวพันธุ์ที่สะอาด ปลอดโรค และมีคุณภาพดี ส่งเสริมให้สหกรณ์ผู้ปลูกมันฝรั่ง และ กลุ่มเกษตรกรที่ทำสัญญากับบริษัท/ผู้ประกอบการ นำไปผลิตเป็นหัวพันธุ์และวัตถุดิบส่งเข้าโรงงานแปรรูป ทำให้มีหัวพันธุ์คุณภาพปลอดโรคในประเทศเพิ่มขึ้น ช่วยลดปริมาณการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศ เป็นการลดต้นทุนการผลิตที่มาจากหัวพันธุ์มีราคาแพง ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้ช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดกรอบขายแข่งในตลาดโลกได้
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินงานด้านลดปริมาณการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่ง ด้วยการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งหลักปีละ 400,000 หัว เพื่อนำไปปลูกขยายเป็นชั้นพันธุ์ขยาย และชั้นพันธุ์รับรอง ปีละ 40 ตัน ร่วมกับการดำเนินโครงการกระจายพืชพันธุ์ดีสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ (หัวพันธุ์มันฝรั่ง) เพื่อการกระจายหัวพันธุ์มันฝรั่งคุณภาพสู่กลุ่มเกษตรกรและบริษัทแปรรูปมันฝรั่งในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเพื่อลดต้นทุนการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งในชั้นพันธุ์หลักให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 40 โดยกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตหัวพันธุ์ชั้นพันธุ์หลัก จากนั้นจะส่งมอบหัวพันธุ์ชั้นพันธุ์หลักให้สหกรณ์ผู้ปลูกมันฝรั่งเชียงใหม่ จำกัด สหกรณ์การเกษตรโหล่งขอดสามัคคี จำกัด และกลุ่มเกษตรกรที่ทำสัญญากับบริษัท/ผู้ประกอบการ ในการร่วมดำเนินการผลิตหัวพันธุ์ชั้นพันธุ์ขยาย ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจอุตสาหกรรมการแปรรูปมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบทั้งระบบอย่างยั่งยืน ทำให้มีหัวพันธุ์คุณภาพปลอดโรคในประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 860 ตัน ช่วยลดปริมาณการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศลงร้อยละ 13 เป็นการลดต้นทุนการผลิตที่มาจากหัวพันธุ์มีราคาแพงไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และทำให้ช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์มันฝรั่งทอดกรอบขายแข่งในตลาดโลกได้
ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินงานโครงการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาพันธุ์มันฝรั่งให้ต้านทานต่อโรคเหี่ยวเขียวด้วยการผสมข้ามมันฝรั่งจากศูนย์มันฝรั่งระหว่างประเทศประเทศเปรูจำนวน 18 สายพันธุ์กับพันธุ์ของกรมวิชาการเกษตรที่ให้ผลผลิตสูงและพันธุ์ที่มีลักษณะที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงคัดเลือกจนได้สายต้นมันฝรั่งที่ต้านทานโรคเหี่ยวเขียว จำนวน 15 สายต้น โดยจะคัดพันธุ์ให้เหลืออย่างน้อย 6-8 สายพันธุ์ ไปปลูกเปรียบเทียบในแปลงวิจัย 2 สถานที่ ใน 2 ฤดูกาลปลูก คาดว่าจะเสนอเป็นพันธุ์แนะนำในปี 2567 ได้อย่างน้อย 1 พันธุ์ต่อไปซึ่งจะทำให้ได้พันธุ์มันฝรั่งสำหรับแปรรูปที่ต้านทานต่อโรคเหี่ยวเขียวให้ผลผลิตต่อไร่สูงสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในประเทศไทยได้และมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งการทำความร่วมมือ (MOU)ระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับบริษัทเอกชนในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มันฝรั่งพันธุ์ใหม่ของประเทศไทยให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรเพื่อให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของโรงแปรรูปมันฝรั่ง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และลดปริมาณการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป