1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. ตรวจเยี่ยมและให้นโยบายแก่เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเ…

ตรวจเยี่ยมและให้นโยบายแก่เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรในการดำเนินงานโครงการเกษตรวิชญา “เกษตรวิชญา”

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และ ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ไปตรวจเยี่ยมและให้นโยบายแก่เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรในการดำเนินงานโครงการเกษตรวิชญา “เกษตรวิชญา” เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งได้ทรงมีพระราชดำริที่จะมอบที่ดินส่วนพระองค์บริเวณบ้านกองแหะ หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่จำนวน 1,350 ไร่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการในลักษณะเป็นคลินิกเกษตร เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยในรูปแบบของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน เป็นศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์สภาพแวดล้อมให้เกิดเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตอาหารธรรมชาติ และมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 ได้ร่วมดำเนินการ ภายใต้แนวคิด “ศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูงตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรบนพื้นที่สูง และขยายผลถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านพืชบนพื้นที่สูงสู่เกษตรกร โดยในปี 2561-2565 ได้ดำเนินการจัดทำแปลงสาธิตต้นแบบการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นเมืองหนาว ด้วยการใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร โดยการใช้พันธุ์พืชที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่สูง ร่วมกับการใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช ได้จัดทำแปลงต้นแบบการปลูกมะคาเดเมีย (พันธุ์เชียงใหม่ 400 พันธุ์เชียงใหม่ 700) จำนวน 1.5 ไร่ แปลงต้นแบบการปลูกโกโก้ พันธุ์ชุมพร 1 จำนวน 1 ไร่ แปลงต้นแบบการปลูกอะโวคาโด จำนวน 1.5 ไร่ แปลงต้นแบบการปลูกพลับ จำนวน 1.5 ไร่ และแปลงต้นแบบการปลูกเกาลัดจีน จำนวน 0.5 ไร่ รวมพื้นที่ 6 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้การทำการเกษตรบนพื้นที่สูง และในปี 2565 เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ อะราบิกาในพื้นที่ พบปัญหามอดกาแฟทำลายผลผลิตกาแฟ จึงได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้เรื่อง การจัดการมอดกาแฟแบบผสมผสาน ให้กับเกษตรกรในพื้นที่จำนวน 20 ราย เพื่อไห้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการผลิตกาแฟอะราบิกาต่อไป ในด้านการพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตร ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชปลอดภัย การใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตพืชที่ดีและเหมาะสม (GAP) จำนวน 65 ราย ผลจากการดำเนินงาน ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นต้นแบบในการผลิตพืชบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

***********

Related
แชท
Skip to content