1. Home
  2. »
  3. ข่าวผู้บริหาร
  4. »
  5. รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเข้าร่วมพิธีเปิดโครงการประ…

รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเข้าร่วมพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต และการตลาดผลไม้คุณภาพของสถาบันเกษตรกร

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้รับมอบหมายจากนางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้ติดตามนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิต และการตลาดผลไม้คุณภาพของสถาบันเกษตรกร ปีงบประมาณ 2563 โดยมีนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บุคลากรกรมส่งเสริมสหกรณ์ และตัวแทนสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรให้การต้อนรับ ณ โรงแรม นิว แทรเวิล ลอด์จ จังหวัดจันทบุรี สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมหารือเพื่อชี้แจงนโยบาย และมาตรการการบริหารจัดการผลไม้คุณภาพของสถาบันเกษตรกร สร้างการรับรู้ และเตรียมความพร้อมด้านการผลิตผลไม้คุณภาพ เป็นการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การผลิตในสถานการณ์ปัจจุบัน และจัดทำแผนการเชื่อมโยงการผลิต และการตลาดของสถาบันเกษตรกร เพื่อยืนยันว่า ผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์มีช่องทางการจำหน่ายที่ชัดเจน ซึ่งกิจกรรมในการจัดประชุมในครั้งนี้จะมีการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงทางการค้าร่วมกัน ระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิต และรวบรวมผลไม้กับสหกรณ์เครือข่าย นอกจากนี้ยังมีการลงนามร่วมกันระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตและรวบรวมผลไม้กับผู้ประกอบการค้า เชื่อมั่นได้ว่าการลงนามครั้งนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ผลิตว่าจะผลิตและรวบรวมผลไม้ที่มีคุณภาพ และสร้างความเชื่อใจให้กับสหกรณ์ผู้ซื้อว่าจะนำผลไม้คุณภาพส่งต่อถึงมือผู้บริโภค โดยผ่านกลไกสหกรณ์ โดยมีตัวแทนสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิต และรวบรวมผลไม้ทั่วประเทศ ผู้แทนสหกรณ์เครือข่ายคู่ค้าผลไม้ ผู้แทนสำนักงานสหกรณ์จังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 150 คน เข้าร่วมประชุมฯ ทั้งนี้ภาครัฐจะใช้ขบวนการสหกรณ์เป็นเครือข่ายในการกระจายผลผลิตคุณภาพสู่ผู้บริโภคทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำแผนเพื่อขอเงินอุดหนุน จากรัฐบาลเพื่อบริหารจัดการผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ วงเงิน 414.20 ล้านบาท โดยให้สหกรณ์ต้นทางใช้เป็นค่าบริหารจัดการผลไม้ กิโลกรัมละ 1 บาท ค่าขนส่ง จากแหล่งรวบรวมไปสหกรณ์ปลายทาง กิโลกรัมละ 2 บาท ค่าจัดซื้อบรรจุภัณฑ์ เช่น ตะกร้า กล่อง จำนวน 3.5 ล้านใบ และค่าบริหารจัดการของสหกรณ์ปลายทางเพื่อกระจายผลไม้สู่ผู้บริโภคในพื้นที่ กิโลกรัมละ 50 สตางค์ และจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ ในจังหวัดใหญ่ เช่น นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ สงขลา สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ รวม 16 จังหวัด และระดับอำเภอ 824 อำเภอ ซึ่งในเดือนเมษายน คาดว่าผลไม้จะเริ่มออกสู่ตลาดช่วงแรกประมาณ 200,000 ตัน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมเกษตรเชิงท่องเที่ยวในสวนผลไม้ มหกรรมสินค้าสหกรณ์ที่เน้นจำหน่ายผลไม้ รวมทั้งปรับระบบช่องทางการจำหน่ายผลไม้ จากช่องทางปกติ เป็นการขายแบบตลาดออนไลน์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะขอความร่วมมือหน่วยงานในสังกัด และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ และเอกชนเข้ามาร่วมด้วย ในการนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางการค้าผลไม้ร่วมกันระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด สหกรณ์การเกษตรเมืองขลุง จำกัด สหกรณ์การเกษตรนายายอาม จำกัด จ.จันทบุรี สหกรณ์การเกษตรเขาสมิง จำกัด และสหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจภาคการเกษตรจังหวัดตราด จำกัด จังหวัดตราด สหกรณ์การเกษตรบ้านนาสาร จำกัดสหกรณ์การเกษตรเมืองสุราษฎร์ธานี จำกัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี สหกรณ์การเกษตรพรหมคีรี จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด จังหวัดอุตรดิตถ์ และสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด จังหวัดลำพูน กับสหกรณ์เครือข่ายผู้รับซื้อผลไม้จากจังหวัดต่าง ๆ อาทิ สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด จังหวัดนครราชสีมา สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด สหกรณ์ออมทรัพย์กรมศุลกากร จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ที่จะรับซื้อผลไม้จากสหกรณ์ชาวสวนผลไม้ในภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคเหนือ เพื่อนำไปกระจายสู่ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีการทำข้อตกลงซื้อขายผลไม้ระหว่างสหกรณ์ชาวสวนผลไม้กับห้างโมเดิร์นเทรดได้แก่ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ห้างเทสโก้โลตัส) บริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน)บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เซนทรัล ฟู้ดรีเทล จำกัด (ท๊อปซูเปอร์มาเก็ต) และบริษัทผู้ส่งออก ได้แก่ บริษัท ริชฟิลด์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด โดยความร่วมมือดังกล่าวคาดหวังว่าจะมีการกระจายผลไม้ผ่านเครือข่ายสหกรณ์ คู่ค้าเอกชน ทั้งห้างโมเดิร์นเทรด ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการ ในการช่วยกันระบายผลผลิตสู่ตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ป้องกันปัญหาผลผลิตกระจุกตัวในช่วงที่ออกมาพร้อมกัน และช่วยเพิ่มช่องทางกระจายผลไม้ให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาเป็นธรรม

Related
แชท
Skip to content