1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. เกษตรฯ เปิดแผนวิจัยเร่งด่วนสยบโรคใบด่างมันสำปะหลัง

เกษตรฯ เปิดแผนวิจัยเร่งด่วนสยบโรคใบด่างมันสำปะหลัง

กรมวิชาการเกษตร  กางแผนโครงการวิจัยเร่งด่วนแก้ปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังระบาด 23 จังหวัด  ขีดเส้น 2 ปี  มุ่งทดสอบและขยายผลศักยภาพการใช้แคลเซียมคาร์บอเนตสร้างความแข็งแรงให้มันสำปะหลังในพื้นที่การระบาด  รวมพื้นที่ทดสอบ 150 ไร่  เร่งรัดการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดพร้อมพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และโดรนเกษตรสำหรับพ่นสารเคมีกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ  เผยขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังต้านโรคใบด่าง

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เริ่มพบการระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยงานดำเนินงานวิจัยด้านพืชได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการด้านงานวิจัยได้มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มันสำปะหลังต้านทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลังการประเมินพันธุ์ทนทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลังการผลักดันให้เกษตรกรใช้พันธุ์ทนทานและท่อนพันธุ์สะอาดเพื่อควบคุมการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง  ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีพันธุ์มันสำปะหลังที่ต้านทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง  โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ระยะเริ่มต้นซึ่งตลอดทั้งกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 6-7 ปี  ดังนั้นแนวทางที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาหรือบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังต่อระบบการผลิตมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ในปัจจุบันจะต้องประกอบด้วยวิธีการต่าง ๆ อย่างผสมผสาน และดำเนินการอย่างเป็นระบบ 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง สภาเกษตรกรแห่งชาติได้เสนอขอให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินงานวิจัยเร่งด่วนเพื่อยืนยันข้อมูลทางวิชาการเรื่องศักยภาพการใช้แคลเซียมคาร์บอเนตสร้างความแข็งแรงให้แก่มันสำปะหลังซึ่งได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากการเกิดโรคใบด่างมันสำปะหลังโดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กรมวิชาการเกษตรจัดทำแผนโครงการวิจัยพัฒนาเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลัง  ระยะเวลาดำเนินการวิจัย 2 ปี  ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแผนการดำเนินงานโครงการวิจัยพัฒนาเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ใน 23 จังหวัด โดยมุ่งเน้นการวิจัยดังนี้

การทดสอบและขยายผลศักยภาพการใช้แคลเซียมคาร์บอเนตในพื้นที่การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังรวมพื้นที่ทดสอบ 150 ไร่

2. การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการสร้างความแข็งแรงให้มันสำปะหลังในพื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลังเป็นการวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังโดยการใช้แคลเซียมคาร์บอเนต กรดซาลิไซลิค สารปรับปรุงดิน และปุ๋ยชีวภาพ PGPR ในสภาพพื้นที่การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทยเมื่อเกิดการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง

3. การวิจัยพัฒนาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่การวิจัยเร่งรัดการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดเพื่อเป็น Clean Buffer Stock ในระบบการผลิตมันสำปะหลังของประเทศการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และโดรนเกษตรสำหรับพ่นสารเคมีกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบอย่างมีประสิทธิภาพสามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีได้  และการประเมินความทนทานของพันธุ์มันสำปะหลังและสายพันธุ์ก้าวหน้า  สำหรับแนะนำส่งเสริมเป็นทางเลือกให้เกษตรกรในพื้นที่ที่มีการระบาด

โรคใบด่างมันสำปะหลังเกิดจากเชื้อสาเหตุ Sri-Lankan Cassava Mosaic Virus มีรายงานการระบาดครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2562 พื้นที่ 45,400 ไร่ ใน 11 จังหวัด เนื่องจากเชื้อสาเหตุสามารถติดไปกับท่อนพันธุ์มันสำปะหลังได้จึงแพร่กระจายเมื่อนำท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกต่อ   ประกอบกับประเทศไทยมีแมลงพาหะ คือ แมลงหวี่ขาวยาสูบจึงทำให้การการระบาดแพร่ขยายเป็นวงกว้าง  ในปีการเพาะปลูก 2564/65 พบรายงานการระบาดสูงสุด(ข้อมูลวันที่ 2 กันยายน 2564) ประมาณ 328,533 ไร่โดยจังหวัดที่มีการระบาดสูงสุด 3 อันดับแรกคือนครราชสีมาสระแก้วและบุรีรัมย์ 

Related
แชท
Skip to content