อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ย้ำแนวทางการส่งออกผลไม้ไทยคุณภาพสู่จีนป้องกันโควิด ไม่จำเป็นต้องไปรับการรับรองจากหน่วยงานอื่นเพิ่มเติม
เกษตรกรและโรงคัดบรรจุเข้มงวดปฏิบัติตามมาตรการ GAP และ GMP Plus เท่านั้น
ตามที่ ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ท่านมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ร่วมกับอธิบดีกรมวิชาการเกษตรและผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพื่อจัดทำแนวทางและมาตรการส่งออกผลไม้ไทยในภาคตะวันออก โดยเฉพาะทุเรียน นั้น
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรและผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เน้นย้ำแนวปฎิบัติตามมาตรการ GAP และ GMP Plus เพื่อการส่งออกไปจีน ไม่ให้มีเชื้อโควิด 19 ปนเปื้อนไปกับตู้สินค้า บรรจุภัณฑ์ และผลไม้ โดยเฉพาะ ทุเรียน อันจะทำให้สินค้าถูกทำลายหรือระงับการส่งออก ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกผลไม้ที่เป็นข้อห่วงใยของทุกภาคส่วนในปัจจุบัน โดยศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) เห็นชอบแนวปฎิบัติดังกล่าว พร้อมได้ติดตามสุ่มตรวจประเมินโรงคัดบรรจุผลไม้ที่ผ่านมาตรฐาน GMP Plus มาแล้ว ผลการประเมินอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดย ศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) เน้นย้ำ มาตรการตรวจสอบโควิด และแมลงศัตรูพืช ณ ด่านนำเข้าจีน ที่เข้มงวดตามนโยบาย Zero Covid ของรัฐบาลจีน
กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ประจํากรุงปักกิ่ง จึงขอทำความเข้าใจกับผู้ส่งออกและเจ้าของโรงคัดบรรจุ และเกษตรกร ให้เข้มงวดตามมาตรการ GAP และ GMP Plus ของกรมวิชาการเกษตร และจังหวัด เป็นแนวทางการส่งออกผลไม้ไปจีนผู้ประกอบการ ไม่จำเป็นต้องไปเสียค่าบริการตรวจสอบและรับรองเพิ่มเติมจากหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะ กระแสข่าว เกี่ยวกับแนวทางการส่งออกผลไม้และทุเรียนที่ต้องผ่านการตรวจสอบรับรอง และติดสติกเกอร์จาก CCIC ประเทศไทย (China Certification & Inspection Group) นั้น จึงไม่ใช่มาตรการและแนวปฎิบัติของกรมวิชาการเกษตร และศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ที่ได้มีความร่วมมือและตกลงกันไว้