นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เข้าร่วมการประชุมหารือ แนวทางการใช้ประโยชน์คาร์บอนเครดิต และตลาดคาร์บอน กับ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ในการที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย ขับเคลื่อนเพื่อยกระดับมาตรฐานตลาดคาร์บอนของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ โดยมีแผนที่จะจัด work shop เพื่อวิเคราะห์ข้อจำกัดและแนวทางการขับเคลื่อน รวมถึงการใช้ประโยชน์ของคาร์บอนเครดิต จากทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยมี หน่วยงานร่วมสำคัญอย่าง กรมวิชาการเกษตร และ อบก เข้าร่วม
ในโอกาสนี้ Mr. Marc S. Forni, Lead Disaster Risk Management Specialist ของ ธนาคารโลก ได้ให้ข้อมูลว่าเครื่องมือที่กำหนดราคาคาร์บอน ประกอบด้วย ภาษีคาร์บอน ระดับเพดาน และการอนุญาตการปล่อยก๊าซ รวมถึงกระบวนการรับรองเครดิต โดยตลาดคาร์บอนในปัจจุบันมีทั้งที่เป็นแบบภาคบังคับและสมัครใจ สำหรับเป้าหมายของธนาคารโลก ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มี 2 ด้านคือ ลดการปล่อยด้านพลังงานในเมืองใหญ่ และ ลดการปล่อยด้านขนส่ง สัดส่วน 70-75% ในปี ค.ศ. 2050 โดยถึงแม้ว่าศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นภาคพลังงาน แต่จากการกำหนด NDC (Nationally Determined Contribution) ของประเทศไทยได้มีการรวมภาคเกษตรเพิ่มเข้าไปในเป้าหมายแล้ว
ในส่วนที่เกี่ยวข้องทางภาคเกษตร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างการดำเนินงานเพื่อพัฒนาต้นแบบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรในกลุ่มพืชเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะได้ Base line การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อประกอบการดำเนินเพื่อรับรองคาร์บอนเครดิต ในพืชสำคัญ อันได้แต่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และไม้ผล ตามกลไกของประเทศไทย คือ T-VER ของ อบก. นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังเล็งเห็นความสำคัญที่จะให้ได้คาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานนานาชาติ ที่จะสามารถยกระดับให้สามารถซื้อขายระหว่างประเทศได้ด้วยเช่นกัน โดยมีแนวทางที่จะขอรับรองคาร์บอนเครดิตตามกลไกต่างประเทศ เช่น Clean Development Mechanism (CDM), Verified Carbon Standard (VCS) หรือ Gold Standard (GS) เป็นต้น
ทั้งนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยังได้เสริมอีกว่า จากการที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเครือข่ายอาเซียน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ในการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ASEAN-Climate Resilient Network: ASEAN-CRN) ซึ่งได้เสนอโครงการร่วมกับ FAO เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก Green Climate Fund (GCF) ในการเตรียมความพร้อมของภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มโอกาสทางด้านการเงินเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเพื่อขับเคลื่อนโครงการลำดับสำคัญของความร่วมมือร่วมด้านการเกษตรโคโรนิเวีย (Koronivia Joint Work on Agriculture) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรียกว่า Agriculture Sector Readiness for enhanced climate finance and implementation of Koronivia Joint Work on Agriculture priorities in Southeast Asia โดยมีแผนจะเริ่มดำเนินโครงการ Technical Assistance for Strengthening Capacity of Policy Makers to Mobilize Investment for Resilient and Low Emission Agrifood Systems in Asia under Article 6 of the UNFCCC Paris Agreement ในปี 2566 นี้ ถือเป็นอีกแนวทางนึงในการชับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้สามารถมุ่งไปสู่เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการปลดปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ได้
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวในตอนท้ายว่า ที่ผ่านมา ได้หารือกับ Dr. QU Dongyu ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ Ms. Maria Helena Semedo รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ในประเด็นความร่วมมือและความช่วยเหลือทางเทคนิค การลดก๊าซเรือนกระจกและการจัดการคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรมีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนด้าน ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงข้อมูลทางวิชาการในการจัดทำระบบคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร และการพัฒนามาตรฐานด้านคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร อาทิ VCS CDM หรือ Golden standard จาก FAO ด้วย