เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมคณะผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ติดตามความก้าวหน้าโครงการคัดเลือกสายพันธุ์ และ ทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพืชสกุลกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรม ซึ่งได้ทดสอบเทคโนโลยีการจัดศัตรูพืชที่เหมาะสมต่อการผลิตกัญชาตามมาตรฐาน GAP เกษตรอินทรีย์ ภายในโรงเรือนตาข่าย วิสาหกิจชุมชนพันธุ์บุรีรัมย์ อ. เมือง จ. บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินกิจกรรมการผลิตกัญชง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ทางอุตสาหกรรม และ การค้า โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรบุรีรัมย์ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 เข้าไปแนะนำความรู้ สนับสนุนปัจจัยการผลิตทั้งปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ สำหรับใช้ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช
นอกจากนี้ยังมีการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีชีวภัณฑ์ของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช มาปรับใช้ตามการเข้าทำลายของศัตรูพืช อาทิ “ไรตัวห้ำ” (Neoseiulus longispinosus) ใช้ควบคุมกำจัดไรแดง “มวนตัวห้ำ” (Cardiastethus exiguus) ใช้ควบคุม เพลี้ยไฟ ไรแดง แมลงหวี่ขาว ไข่ผีเสื้อ และหนอนขนาดเล็ก (วัย 1) “มวนเพชฌฆาต” (Sycanus collaris) และ มวนพิฆาต (Eocanthecona furcellata) ใช้ควบคุมกำจัดหนอนผีเสื้อ สามารถลดการใช้สารเคมี ให้ผลผลิตช่อดอกกัญชามากกว่าโรงเรือนที่ไม่ใช้ชีวภัณฑ์ในการควบคุม ได้ผลตอบแทนที่มากกว่า