นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามนโยบายการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อส่งออก ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน จังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเยี่ยมชมสวนทุเรียนฉัตรกมลฟาร์ม ของนายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต GAP จากกรมวิชาการเกษตร พร้อมพบปะเกษตรกรเครือข่ายทุเรียนแปลงใหญ่ และมอบใบรับรองมาตรฐานการผลิต GAP ทุเรียน ให้กับตัวแทนเกษตรกรรวม 320 ราย 345 แปลง พื้นที่ 2,877.35 ไร่ ณ สวนทุเรียนฉัตรกมลฟาร์ม ตำบลพระรักษ์ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร จากนั้น เป็นประธานมอบนโยบายการประชุม เรื่อง “แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องให้กับผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน” ณ ห้องประชุมที่ว่าการ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ก่อนเดินทางตรวจติดตามการดำเนินงานโรงคัดบรรจุผลไม้ (ทุเรียน) “หอมหมื่นลี้” ณ ตลาดมรกต ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายมุ่งเน้นการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อส่งออก ภายใต้มาตรการส่งออกทุเรียนไทยตามข้อตกลงทางพิธีสารไทย-จีน จึงได้ย้ำในที่ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุกว่า 100 ราย ว่าทุเรียนไทยเป็นทุเรียนที่ดีที่สุดในโลก ทั้งด้านรสชาติและคุณภาพ และขอยืนยันว่าประเทศไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทำดำเนินการอย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาชื่อเสียง รักษาตลาดส่งออก และรักษามาตรฐานการผลิตของทุเรียนไทย สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคทั่วโลก ทั้งนี้ ขอฝากไปยังผู้ประกอบการ และชาวสวน ในช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตทุเรียนภาคใต้ออกสู่ตลาด ขอความร่วมมือทุกคนอย่าตัดทุเรียนอ่อนเพราะจะสร้างความเสียหายกับการส่งออกทุเรียนของไทยอย่างมาก กระทบกับความเชื่อมั่นในคุณภาพ และที่สำคัญระมัดระวังอย่าให้ใครมาสวมสิทธิ์ทุเรียนของเกษตรกรไทยอย่างเด็ดขาด
“ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกทุเรียนทั้งประเทศ จำนวน 925,855 ตัน มูลค่า 119,160 ล้านบาท และมีแนวโน้มการเติบโตของพื้นที่การผลิตและพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นทุกปี จึงขอย้ำต่อผู้ประกอบการส่งออกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร พร้อมให้คำแนะนำและบูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อรักษาชื่อเสียงและมาตรฐานของทุเรียนไทยที่ส่งออกไปทั่วโลก ดังนั้นทุกมาตรการที่กรมวิชาการกำหนดออกมานั้น นอกจากมาตรการการส่งเสริมและการกำกับตามระเบียบที่กรมรับผิดชอบแล้ว ยังเป็นมาตรการที่มาจากการหารือกับประเทศคู่ค้าที่กำหนดร่วมกันอีกด้วย จึงขอฝากว่าทุกฝ่ายต้องช่วยกันยกระดับมาตรฐานโรงคัดบรรจุทุเรียนสดเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะด้านสุขอนามัยพืชตามพิธีสารไทย-จีน อย่างเคร่งครัด” รมช.เกษตรฯ กล่าว
รมช.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า ขอให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนเร่งดำเนินการขอขึ้นทะเบียนแปลง GAP เพื่อยกระดับสวนทุเรียน โดยกรมวิชาการเกษตรได้จัดรถ “GAP Mobile เคลื่อนที่” ลงไปทุกพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรและลดระยะเวลาในการเดินทาง เป็นการยกระดับคุณภาพผลผลิตของทุเรียนไทย ซึ่งเป็นผลไม้ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้จัดกิจกรรม “GAP Mobile เคลื่อนที่” เพื่อเร่งดำเนินการให้บริการขึ้นทะเบียน หรือต่ออายุสวน GAP ให้แก่เกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนแปลงทุเรียนที่ขึ้นทะเบียน GAP ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตร และพร้อมส่งออกไปจีนแล้ว จำนวน 26,823 แปลง และมีโรงคัดบรรจุทุเรียนสดที่พร้อมรวบรวมและคัดบรรจุแล้ว จำนวน 490 โรงคัดบรรจุ ทั้งนี้คาดว่าตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป จะมีผลผลิตทุเรียนในภาคใต้จำนวน 120,000 ตัน โดยเป็นทุเรียนในพื้นที่ จังหวัดชุมพร 80,000 ตัน ซึ่งกรมวิชาการเกษตรพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบคุณภาพ และออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเพื่อส่งออกไปจีน
“สถานการณ์ปัจจุบัน การส่งออกทุเรียนสดไทยไปจีนนั้นมิได้มีประเทศไทยเพียงประเดียวแล้ว แต่มีประเทศอื่นๆ ที่สามารถส่งออกทุเรียนสดได้แล้ว ดังนั้นเกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันสร้างจุดเด่นและความแตกต่าง และเน้นย้ำมาตรฐานและคุณภาพทุเรียนไทย โดยต้องไม่มีทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนด้อยคุณภาพส่งออกไปเด็ดขาด ต้องเสริมสร้างแนวคิดและผลักดันเอกลักษณ์ “ผลไม้ไทย ผลไม้คุณภาพ” (Premium thai fruits) เพื่อช่วยกันสร้างความเชื่อถือ และความมั่นใจในผลไม้หรือทุเรียนที่ส่งออกมาจากเกษตรกรไทย ทั้งนี้ เพื่อภาพลักษณ์ผลไม้ไทย ผลไม้ที่มีคุณภาพในตลาดส่งออกอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
***************