นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าได้มีนโยบายให้กรมวิชาการเกษตร เปิดศูนย์วิจัยเกษตรทั่วประเทศเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมและมีความรู้ความเข้าใจงานด้านเกษตรและพันธุ์พืช ร่วมถึงเรียนรู้ในการพัฒนาวิจัยงานเกษตรของไทยเพื่อนำไปสู่เป้าหมายครัวของโลก โดยให้ทำปฏิทินท่องเที่ยวทั้งปี แต่ละพื้นที่เพื่อให้ประชาชนคนไทย ที่จากสถานการณ์โควิดไปต่างประเทศไม่ได้ หรืออยากออกไปท่องเที่ยวคลายเครียดจากสถานการณ์ ได้ออกมาทดลองเที่ยวชมในพื้นที่ดังกล่าวเป็นอีกทางเลือกของประชาชน ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีถึง 22 ศูนย์วิจัยที่น่าเที่ยวชม
“ทั้งนี้ให้กรมวิชาการเกษตรทำปฏิทินท่องเที่ยวประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบว่าที่สถานีไหน จังหวัดไหน เหมาะสมท่องเที่ยวในเดือนใด มีอะไรดีที่ต้องมาชม มาศึกษา หรือมาดูบรรยากาศ ทั้งอากาศหนาว หรือดูทะเลหมอกหรือมารอชิมผลไม้เมืองหนาว ผลไม้ขึ้นชื่อในพื้นที่ที่อื่นไม่มี เพื่อเป็นการกระจายการท่องเที่ยวทั้งปีและกระจายรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นในภาวะที่โควิดทำประชาชนขาดรายได้ นอกจากนั้นแต่ละจุดก็ต้องให้ความรู้งานด้านเกษตรด้วย หรือการเปิดให้มีกิจกรรมปลูกต้นไม้ ปลูกผักสวนครัวแบบง่ายเหมาะกับครัวเรือนเพื่อจะได้นำกลับไปลองปลูกที่บ้านตนเองเป็นต้น อย่างไรก็ตามหากจุดไหนที่เปราะบางด้านการวิจัยก็จะสงวนไว้ไม่ให้เข้าตามกฎหมายของกรมวิชาการเกษตร”นางสาวมนัญญา กล่าว
นางสาวศิริพร วรกุลดำรงชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่ากรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืชจึงมีศูนย์วิจัยสำหรับดำเนินการงานวิจัย ทดลอง พัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชที่ตั้งอยู่ในแหล่งธรรมชาติ กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และภายในศูนย์วิจัยดังกล่าวมีแปลงการผลิตพืช ขยายพันธุ์พืช แปลงต้นแบบทฤษฎีใหม่รวมถึงแปลงรวบรวมและอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ให้ความรู้ด้านการเกษตรอย่างครบวงจรแก่เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ปัจจุบันมี 22 แห่ง
ทั้งนี้ตั้งแต่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ศูนย์เกษตรหลวงที่สูงขุนวางและแม่จอนหลวง จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2547-63 มีนักท่องเที่ยวเข้าชมรวม 494,156 ราย โดยในห้วงปี 59-63 พบว่ามีนักท่องเที่ยวไปขุนวางเพิ่มเป็นปีละ 2.9 แสนคน เพื่อมาชมทุ่งดอกนางพญาเสือโคร่งบานในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี เนื่องจากมีละครดังมาถ่ายทำทำให้ประชาชนรับทราบว่ามีจุดชมดอกไม้ที่สวยงาม ในปี 2564 คาดว่าจะดอกนางพญาเสือโคร่งจะบานระหว่างวันที่ 10-11 ม.ค. ซึ่งตรงกับเทศกาลชิมกาแฟขุนวาง
อย่างไรก็ตามหากกางปฏิทินเฉพาะในพื้นที่ศูนย์เกษตรหลวงขุนวางฯ เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. เป็นจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่จะบานสะพรั่งสีชมพูทั้งดอย ก.พ. ช่วงสตอเบอร์รี่ออกผล มี.ค. ช่วงบ๊วย และกาแฟออกดอก เดินชมดอกไม้สูดกลิ่นดอกกาแฟ เม.ย. -พ.ย. หลบร้อนมาตากความเย็นที่ขุนวางอุณภูมิเฉลี่ย 18 องศาเซนเซียส ช่วงมะคาเดเมียออกผล แปรรูปอบกรอบหอมอร่อย ธ.ค. อากาศหนาวจัด ดอกไม้บานสะพรั่ง กาแฟเก็บผลผลิต ชิมกาแฟขุนวาง เป็นต้น