1. Home
  2. »
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. »
  5. ปลัดเกษตรฯ ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร คุมเข้มส่งออกทุเร…

ปลัดเกษตรฯ ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร คุมเข้มส่งออกทุเรียนใต้ สยบปัญหาทุเรียนอ่อนและสวมสิทธิ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรฟันธงทะเบียน GAP รูปแบบใหม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์กลางเดือนธ.ค.แน่นอน

วันที่ 30 พฤศจิกายน  2565 นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจราชการพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยได้มอบนโยบาย และแนวทางพัฒนาการตรวจสอบย้อนกลับตลอด Supply Chain ทุเรียน ส่งออกไปจีน การยกระดับมาตรฐานผลไม้ไทย ผลไม้คุณภาพ “Premium Thai Fruits” พร้อมกับมอบใบรับรองแหล่งผลิตพืช GAP พืช  และเยี่ยมชมสวนทุเรียนที่ได้รับการรับรอง GAP และการแปรรูป (ทุเรียนแช่เยือกแข็ง) หลังจากนั้นได้เดินทางไปโรงคัดบรรจุผลไม้ศิริมงคล ของ บริษัท สิริมงคล คอร์เปอเรทกรุ๊ป ตำบลนาโพธิ์ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร  ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพและศัตรูพืชทุเรียนในโรงคัดบรรจุ

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า การส่งออกทุเรียนสดไทยไปจีนขณะนี้มิได้มีไทยประเทศเดียวยังมีประเทศเวียดนาม และอาจมีประเทศอื่นๆ ในอนาคต ดังนั้นการทำงานในลักษณะบูรณาการระหว่างเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สมาคมผู้ประกอบการส่งออก และหน่วยงานทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกันกำหนดทิศทางทุเรียนไทย สร้างความแตกต่าง จุดเด่นที่สำคัญคือมาตรฐานและคุณภาพของทุเรียนไทย ไม่ให้มีทุเรียนอ่อน หรือทุเรียนด้อยคุณภาพส่งออกไปยังประเทศผู้บริโภค และมั่นใจได้ว่าทุเรียนที่ส่งออกจากไทยมาจากแปลงของเกษตรกรไทยจริง เพื่อรักษาภาพลักษณ์และตลาดการส่งออกให้ยั่งยืน เป็น “ทุเรียนไทยดีที่สุดในโลก (Thai durian is  the best in the world)” อีกทั้ง ต้องการให้การส่งออกทุเรียนสดไทย มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร มีคุณภาพมาตรฐานของทุเรียนเป็นภาพลักษณ์โดดเด่น และยอมรับจากผู้บริโภคในประเทศจีน

ดังนั้น ผลผลิตจากสวนของเกษตรกร  โรงรวบรวมและคัดบรรจุ การรับรองสุขอนามัยพืช ตลอดจนการขนส่งและการตรวจสอบย้อนกลับ ควรที่ทุกภาคส่วนต้องทำร่วมกัน โดยภารกิจการติดตามมาตรการตรวจสอบคุณภาพและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับทุเรียนส่งออกไปจีนที่ได้มอบให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการนั้น จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทย

ด้าน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่จ.ระยอง และจันทบุรีในระว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายนนี้ เพื่อเร่งรัดติดตามการออกทะเบียน GAP รูปแบบใหม่ซึ่งจะแล้วเสร็จทั้ง 80,000 ฉบับสำหรับภาคตะวันออกในต้นเดือนธันวาคมนี้ และจะครบ 100 % ทั้งประเทศภายในกลางเดือนธันวาคมนี้ แน่นอน แน่นอนขอให้พี่น้องเกษตรกร และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องกังวล   พร้อมกับได้ลงพื้นที่กับ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน และ 1 ธันวาคมนี้  เพื่อควบคุมกำกับดูแลคุณภาพทุเรียนใต้ รวมถึง ป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อน และทุเรียนสวมสิทธิ์ ตามนโยบาย Zero สวมสิทธิ์ โดยการเปลี่ยนแปลง GAP รูปแบบใหม่นั้นจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต ซึ่งจะเป็นการป้องกันการสวมสิทธิ์ทุเรียน และผลไม้ไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยgap. รูปแบบใหม่ที่จะใช้มค  66  จะดำเนินการเสร็จทันแน่นอนทั้งของภาคตะวันออกจะดำเนินการเสร็จภายใน ธค.นี้  จะไม่มีผลกระทบกับทุเรียนในฤดูกาลหน้าส่วนของ สวพ.7  ดำเนินการได้ครบ 100เปอร์เซ็นต์แล้ว

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ได้สั่งการให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครศรีธรรมราช สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7   ติดตามทวนสอบประเด็นปัญหาทุเรียนอ่อนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะอำเภอท่าศาลา อำเภอนบพิตำ และอำเภอสิชล ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตทุเรียนนอกฤดูเพื่อการส่งออก (ต.ค-ธ.ค)  ซึ่ง ศวพ.นครศรีธรรมราช ได้ประสานผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ได้แก่ หัวหน้าราชการส่วนจังหวัด อำเภอ ผู้ประกอบการ เกษตรกร มือมีดตัดทุเรียน ตำรวจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในพื้นที่แล้วนั้น

พบว่าไม่ได้มีการตัดทุเรียนอ่อนจำหน่ายหรือส่งออกแต่อย่างใด แต่ปัญหาเกิดขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกลงมามากและต่อเนื่องในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนนอกฤดู ทำให้น้ำปะปนในเนื้อทุเรียนมาก ส่งผลให้ผลผลิตทุเรียนบางส่วนที่จำหน่าย เนื้อแฉะ ไส้ซึม เนื้อมีสีเหลืองครีมปนขาว ทุเรียนด้อยคุณภาพ ตลาดไม่ต้องการ แต่ไม่ใช่ทุเรียนอ่อน  ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรับซื้อผลผลิตเกษตรกร เพื่อจะได้ไม่ต้องทิ้งค่ามัดจำสัญญา ซึ่งบางส่วนอาจจะเป็นผลผลิตด้อยคุณภาพปะปนไป แต่ผู้ประกอบการบางส่วนยอมทิ้งค่ามัดจำสัญญาเพราะผลผลิตไม่มีคุณภาพเนื่องจากเนื้อแฉะจากการได้รับน้ำมากเกินไประหว่างติดผลผลิตบนต้นก่อนการเก็บเกี่ยว

“ทุเรียนไทยมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น โดยทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยมีลักษณะทรงผลค่อนข้างยาว ปลายผลแหลม หนามแหลมสูง  ฐานหนามเป็นเหลี่ยม  ก้านผลใหญ่แข็งแรง  เนื้อหนาสีเหลืองอ่อนละเอียด  เนื้อค่อนข้างแห้งไม่แฉะติดมือ  รสชาติหวานมัน ส่วนใหญ่เมล็ดลีบ ซึ่งไม่มีทุเรียนประเทศใดมีลักษณะเฉพาะตัวเช่นนี้  ทุเรียนไทยจึงได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน  ดังนั้นจึงขอความร่วมมือเกษตรกร  ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันรักษาภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยไม่ส่งทุเรียนอ่อนหรือทุเรียนด้อยคุณภาพออกไปเด็ดขาด” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว

 

 

 

 

Related
แชท
Skip to content