เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้รับมอบหมายจาก นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “วันถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชภาคเหนือตอนบน นวัตกรรมพืชพร้อมใช้ พัฒนาเกษตรกรไทยยั่งยืน” ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2566 คาดเกษตรกรร่วมงานกว่า 2,000 ราย
โอกาสนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเกษตรปลอดภัย ยกระดับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเกษตรปลอดภัย ยกระดับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ตลาดผักผลไม้ปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP และ Organic Thailand, จริงใจมาร์เก็ตเชียงใหม่, ตลาดข่วงเกษตรอินทรีย์ และ ตลาดนัดเกษตรสีเขียวศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงการผลิตพืชปลอดภัยเพื่อส่ง โรงพยาบาล โรงเรียน และ เรือนจำ รวมถึงการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เช่น การปลูกต้นนางพญาเสือโคร่ง ที่มีความโดดเด่น สวยงาม ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชม โดยขยายพื้นที่ปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ให้ได้อย่างน้อยปีละ 10,000 ต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั้งยังเป็นการลดฝุ่นควัน PM 2.5 ซึ่งมักจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี ในปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน การผลิตพืชที่ให้ได้ผลผลิตทีดีมีคุณภาพ กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินภารกิจทั้งทางด้านการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน และการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสินค้าเกษตร สร้างแรงจูงใจเชิงบวกแก่กลุ่มเกษตรกร จนได้รับการรับรองแหล่งผลิตพืชจนได้รับมาตรฐาน GAP จำนวน 13,859 ราย พื้นที่ 138,387 ไร่ และ รับรองแปลงผลิตพืชอินทรีย์ จำนวน 119 ราย พื้นที่ 1,809 ไร่ ในส่วนของงานถ่ายทอดเทคโนโลยีภาคเหนือตอนบน นางสาวจงรัก อิ่มใจ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 กล่าวว่า สวพ 1.และหน่วยงานเครือข่ายกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการต่าง ๆ ที่น่าสนใจเป็นอันมาก โดยภายในงานได้แบ่งกิจกรรมออกเป็นโซนต่างๆ ดังนี้ โซนที่ 1 เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิตและแปรรูป โซนที่ 2 นวัตกรรมกาแฟอะราบิกาครบวงจรสู่ระดับสากล โซนที่ 3 ชีวภัณฑ์ก้าวหน้า ลดพึ่งพาสารเคมี โซนที่ 4 มุ่งสู่ BCG ด้วยปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ โซนที่ 5 การเพิ่มประสิทธิภาพระบบพืชด้วยนวัตกรรมการผลิตพืชไร่ โซนที่ 6 มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อนระดับโลก โซนที่ 7 ยกระดับมาตรฐานการผลิตพืชเพื่อการส่งออก และเพิ่มศักยภาพพืชท้องถิ่นด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรวางแผนลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับหน่วยงานต่างๆ อาทิเช่น จังหวัดเชียงใหม่ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิชีววิถี (Bio Thai) มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนประเทศไทย เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai PAN) และ ตลาดไท ในการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยจากสารเคมีและเพื่อความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตส้มปลอดภัย นำร่องในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงการผลิตพืชผักปลอดภัย นำร่องในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ให้สามารถยกระดับสินค้าเกษตรให้กับผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้าถึงสินค้าเกษตรปลอดภัยได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
“นับเป็นเรื่องน่ายินดีและเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่หน่วยงานได้ร่วมกันดำเนินการจัดงานเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่กรมวิชาการเกษตรก่อตั้งครบ 50 ปี อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ผลงานของกรมวิชาการเกษตรที่ได้ผลิตงานวิจัยด้านพืช และเทคโนโลยีการเกษตรที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศเป็นจำนวนมาก เป็นการกระตุ้น เร่งเร้าให้หน่วยงานต่าง ๆ หาทางเร่งรัดช่วยเหลือเกษตรกรให้เรียนรู้ และมีความเข้าใจ ในกระบวนการผลิตพืชที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่และคุ้มค่ากับการลงทุน โดยได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการจัดงานครั้งนี้” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว