นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กรมวิชาการเกษตรกำกับดูแลการนำเข้าและส่งออกผัก ผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียนส่งออก พร้อมกับเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันรักษาชื่อเสียงทุเรียนไทย หากพบส่งทุเรียนด้อยคุณภาพจะไม่อนุญาตให้ส่งออกอย่างเด็ดขาดซึ่งเป็นนโยบายที่ชัดเจนตลอดระยะเวลาที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร พร้อมกับได้สั่งการให้แต่งตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจเพื่อเข้าตรวจสวนและโรงคัดบรรจุให้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายที่กำหนด หากพบสวนใดมีการตัดทุเรียนอ่อนหรือยินยอมให้สวมสิทธิ์แปลงการผลิตที่ดี(GAP) ให้ดำเนินการเพิกถอนการรับแปลงทันที รวมถึงโรงคัดบรรจุที่รับซื้อทุเรียนอ่อนหรือสวมสิทธิ์แปลง GAP ให้เพิกถอนการรับรองการเป็นโรงคัดบรรจุที่ดี(GMP) โดยจะต้องไม่ผ่อนปรนให้อย่างเด็ดขาด
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ได้จัดประชุมชี้แจงหลักการและแนวทางปฏิบัติของนายตรวจพืชทั่วประเทศสำหรับตรวจทุเรียนส่งออกไปจีนในปี 2566 และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ได้สั่งการให้สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรทำหนังสือถึงหัวหน้าด่านตรวจพืชทั่วประเทศกำชับให้นายตรวจพืชปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เต็มความสามารถ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการส่งออกทุเรียนของไทยไปจีน รวมทั้งเฝ้าระวัง ควบคุม เข้มงวด และตรวจสอบสินค้าทุเรียนแช่เยือกแข็งนำเข้าและส่งออก เพื่อป้องกัน ป้องปรามการลักลอบและการสวมสิทธิ์ทุเรียนไทย อีกทั้งกรมวิชาการเกษตรได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อลงพื้นที่ติดตาม ควบคุม เรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิดตามนโยบายของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ด้วย
“ฤดูกาลผลิตปี 2566 จะไม่มีการตัดทุเรียนอ่อนอย่างเด็ดขาด โดยในวันที่ 1 มีนาคม 2566 นี้ได้สั่งการให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6)จัดประชุมผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออกฤดูกาลผลิตปี 66 เกษตรกร และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการรับรู้และชี้แจงแนวทางการตรวจและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชเพื่อการส่งออก รวมทั้งขั้นตอนการส่งออกผลไม้ตามข้อตกลงเงื่อนไขพิธีสารฯ การส่งออกผลไม้ไปจีนโดยมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว