30-09-2024, 09:54
คำแนะนำการทำแปลงทดลองการสลายตัวของสารพิษตกค้างจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรในผัก ผลไม้ และธัญพืช
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
ข้อมูลสารพิษตกค้างของวัตถุอันตรายทางการเกษตรมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับการพิจารณาระยะปลอดภัยก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังการพ่นสารครั้งสุดท้าย (Pre-Harvest Interval หรือ PHI) ในพืชอาหาร โดยจะต้องเป็นข้อมูลที่ได้จากการทำแปลงทดลองสารพิษตกค้างที่เป็นตามหลักวิชาการและสอดคล้องกับมาตรฐานกำหนด ได้แก่ สถานที่ทำแปลง ขนาดพื้นที่ อัตราการใช้ จำนวนครั้ง ช่วงการพ่น วิธีการสุ่มเก็บ และปริมาณตัวอย่างที่สุ่มเก็บ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลสารพิษตกค้างจากการทดลองวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลตรงตามวัตถุประสงค์
ปัจจุบันการทำแปลงทดลองการสลายตัวของสารพิษตกค้างจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรเพื่อให้ได้ข้อมูลสารพิษตกค้างนั้น จะดำเนินการโดยผู้ที่ประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนหรือต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายในพืชอาหาร ก่อนเริ่มดำเนินการทดลองจะยื่นเอกสารขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร ตามรายละเอียดการจัดทำแผนการทดลองสารพิษตกค้างที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ได้แก่ สถานที่ทำแปลงทดลอง การวางแผนการทดลอง จำนวนการทดลอง จำนวนซ้ำ ขนาดแปลง ระยะปลูก การใส่ปุ๋ย และกรรมวิธีการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรต้องสอดคล้องกับผลการทดลองประสิทธิภาพ โดยให้ระบุวิธีการใช้ อัตราการใช้ จำนวนครั้ง ช่วงการพ่น (Interval) การใช้วัตถุอันตรายชนิดอื่น และระยะเก็บเกี่ยวหลังการใช้วัตถุอันตรายครั้งสุดท้าย วิธีการสุ่มตัวอย่าง และขนาดของตัวอย่างที่สุ่มเก็บจากแปลงทดลอง
คำแนะนำการทำแปลงทดลองการสลายตัวของสารพิษตกค้างจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรในผัก ผลไม้ และธัญพืช ฉบับนี้ เป็นฉบับปรับปรุงจากเอกสารคำแนะนำการทดลองสารพิษตกค้างของวัตถุอันตรายทางการเกษตร ซึ่งเป็นเอกสารวิชาการของกลุ่มงานวิจัยสารพิษตกค้าง กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการทำแปลงทดลองสารพิษตกค้างในพืชอาหารสำหรับผู้ขึ้นทะเบียนหรือต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ครอบคลุมพืชผัก ผลไม้ และธัญพืช ในประเทศไทยที่เป็นปัจจุบันให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และถูกต้องตามหลักวิชาการ