25-09-2020, 02:00
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่มีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ ในขณะที่ผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยในปี 2561 ประเทศไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปริมาณ 153,662.73 ตัน มูลค่ารวม 900.93 ล้านบาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงเป็นทางเลือกที่สดใสสำหรับเกษตรกร เนื่องจากมีตลาดรองรับผลผลิต โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้นและใช้น้ำน้อย เหมาะสาหรับการปลูกทดแทน นาปรังที่ประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด นอกจากนั้น ผลผลิตข้าวโพดหลังนายังมีคุณภาพดีกว่าฤดูฝน เนื่องจากการเก็บเกี่ยวไม่อยู่ในช่วงที่มีฝนตกชุก และรัฐบาลสนับสนุนการผลิตทดแทนนาปรัง
ภาคกลางเป็นแหล่งที่มีศักยภาพในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองมาจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2561 มีเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 404,783 ครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 6,83,265 ไร่ แหล่งผลิตที่สาคัญ ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี สระบุรี ลพบุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี เนื่องจากพื้นที่การเกษตรของภาคกลาง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นา จึงมีศักยภาพในการปลูกข้าวโพดหลังนา เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ของเกษตรกร โดยเฉพาะในแหล่งที่มีน้ำชลประทาน หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ รวมถึงน้ำใต้ดิน ที่สามารถให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่า 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ มีต้นทุนการผลิต 3,769 – 5,150 บาท/ไร่ และมีกำไร 2,639 – 5,357 บาทต่อไร่ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน รวมถึงการใช้ทรัพยากรในการผลิตอย่างคุ้มค่า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการผลิต ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ทั้งในด้านการคัดเลือกพื้นที่ปลูก พันธุ์ การจัดการดิน ปุ๋ยและน้ำ การเขตกรรม การจัดการศัตรูพืช รวมถึงการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท ตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาในพื้นที่ภาคกลาง โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จึงได้รวบรวมความรู้จากเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกกรมวิชาการเกษตร นำมาประมวลและกลั่นกรองให้มีความเหมาะสมทางวิชาการและเข้าใจง่าย ซึ่งสำนักวิจัยและพันนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เอกสารวิชาการ การจัดการความรู้ เรื่อง เทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดหลังนาที่ในพื้นที่ภาคกลาง เล่มนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับการนำไปใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาในแต่ละพื้นที่ ต่อไป