เทคโนโลยีการผลิตลิ้นจี่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
#1
เทคโนโลยีการผลิตลิ้นจี่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 กรมวิชาการเกษตร

          ลิ้นจี่เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทยปี 2563 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ 106,342 ไร่ เป็นเนื้อที่ให้ผลแล้ว 99,978 ไร่ ผลผลิต 33,996 ตัน หรือเฉลี่ย 340 กิโลกรัมต่อไร่ แหล่งปลูกที่สำคัญหรือพื้นที่ปลูกร้อยละ 89.98 อยู่ในภาคเหนือตอนบน เช่น จังหวัดเชียงใหม่ น่าน เชียงราย และพะเยา นอกนั้นมีปลูกในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครพนม และเลย ปี 2563 ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกลิ้นจี่สดและผลิตภัณฑ์ปริมาณ 4,518 ตัน มูลค่า 248.32 ล้านบาท ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง สหรัฐอเมริกาและมาเลเซีย พันธุ์ลิ้นจี่ในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มพันธุ์ภาคเหนือที่ต้องการอากาศหนาวเย็นมากเพื่อชักนำให้ออกดอกและเก็บเกี่ยวเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน เช่น พันธุ์ฮงฮวย โอวเฮียะ กิมเจ็งและจักรพรรดิ กลุ่มพันธุ์ภาคกลางที่ต้องการอากาศไม่หนาวเย็นมากเพื่อชักนำให้ออกดอกจึงเก็บเกี่ยวผลได้ในเดือนเมษายน เช่น พันธุ์ค่อม สำเภาแก้วและกะโหลกใบขิง

          การจัดการความรู้ (knowledge management) ด้านเทคโนโลยีการผลิตลิ้นจี่คุณภาพในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ของบุคลากรของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 ให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของการจัดการความรู้ร่วมกัน มีการเรียนรู้ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ และนำความรู้ที่ได้รีบมาเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานต่อไป จึงได้จัดทำเอกสารวิชาการฉบับนี้ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วยสถาณการณ์การผลิต พันธุ์ การปฏิบัติดูแลรักษา การป้องกันศัตรูพืช การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและมาตรฐานลิ้นจี่ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและปรับปรุงคุณภาพลิ้นจี่ให้ตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค


ไฟล์แนบ
.pdf   2564 เทคโนโลยีการผลิตลิ้นจี่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน.pdf (ขนาด: 8.51 MB / ดาวน์โหลด: 1,476)
ตอบกลับ