06-10-2020, 09:52
เทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยชีวภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชในเขตภาคกลางและภาคตะวันตก
พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกของไทยเป็นแหล่งผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญหลากหลายชนิด ได้แก่ ข้าว พืชไร่ พืชผัก ไม้ผล และอื่นๆ สร้างรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทั้งในและต่างประเทศ แต่เกษตรกรยังประสบปัญหาในเรื่อง ประสิทธิภาพการผลิตพืชที่ลดลง เนื่องจากผลผลิตต่ำและต้นทุนการผลิตสูง เช่นเดียวกับพื้นที่เพาะปลูกพืชในภูมิภาคอื่นของประเทศ โดยเฉพาะต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี ทั้งนี้เพราะประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตอากาศร้อนและมีการปลูกพืชต่อเนื่องเป็นเวลานานทำให้ดินเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว เกษตรกรแก้ปัญหาโดยการใส่ปุ๋ยเคมี ซึ่งมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น นอกจากนั้นการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างต่อเนื่องหรือใช้มากไป ยังทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินเสีย ปริมาณอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินลดลง ประสิทธิภาพการดูดใช้ธาตุอาหารพืชต่ำลงทำให้ผลผลิตลดลง กรมวิชาการเกษตรมีผลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพหลายชนิด ได้แก่ ไรโซเบียม แหนแดง พีจีพีอาร์ ปุ๋ยละลายฟอสเฟต และไมคอร์ไรซา ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่มีชีวิตและสามารถสร้างธาตุอาหารแล้วแบ่งให้พืชใช้ได้ หรือช่วยให้ธาตุอาหารอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช รวมถึงการผลิตสารที่ช่วยให้พืชเจริญเติบโตรวดเร็ว แข็งแรง และมีความทนทานต่อสภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น ความแห้งแล้ง โรคและแมลงศัตรูพืช ปุ๋ยชีวภาพเหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถใช้เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ร้อยละ 20 – 50 หรือใช้ทดแทนธาตุอาหารบางชนิดของปุ๋ยเคมี และช่วยเพิ่มผลผลิตพืชได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ขึ้นกับชนิดของปุ๋ยชีวภาพ ชนิดพืช วิธีการใช้ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม