01-10-2021, 12:53
เขตภาคเหนือตอนล่างประกอบไปด้วย จังหวัดพิษณุโลก ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิจิตร และเพชรบูรณ์ ทั้ง 7 จังหวัด มีลักษณะสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ทั้งพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ราบ ที่ดอน ที่ราบเชิงเขา ที่สูง และมีสภาพภูมิอากาศแตกต่างเช่นกัน พื้นที่ราบจะมีอากาศร้อนกว่าพื้นที่สูงบนภูเขาที่มีอากาศหนาวเย็น ด้านความเหมาะสมของชนิดพืชที่ปลูกพืช ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศด้วย พืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ด้านพืชไร่ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ไม้ผลได้แก่ มะม่วง มะขามหวาน มะนาว ส้มโอ มะปราง มะยงชิด กล้วย ละมุด รวมถึงเป็นแหล่งปลูกพืชผัก ไม้ดอก และสมุนไพร ที่มีศักยภาพทั้งพื้นที่ราบและพื้นที่สูง ด้วยความแตกต่างต่างของสภาพพื้นที่และสภาพอากาศนี้ ยังก่อให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมของพืชพื้นถิ่น และมีการพัฒนาการผลิตกลายเป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจากท้องถิ่นนั้นๆ ที่มีลักษณะเด่นเฉพาะพื้นที่จนได้ขึ้นทะเบียนเป็นพืชอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งในเขตภาคเหนือตอนล่าง มีพืชอัตลักษณ์พื้นถิ่นทุกจังหวัด คือ มะขามหวานเพชรบูรณ์ ละมุดสุโขทัย สับปะรดห้วยมุ่น อุตรดิตถ์ กล้วยน้ำว้ามะลิอ่องพิษณุโลก กล้วยไข่กำแพงเพชร มะปรางและมะยงชิดพิจิตร และอะโวคาโดตาก
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 ได้ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์และดำเนินการวิจัยพืชอัตลักษณ์พื้นถิ่นภาคเหนือตอนล่างมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พศ. 2561 – 2580) ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ในประเด็นเรื่อง เกษตรสร้างมูลค่า แผนย่อยเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น จึงได้รวบรวมองค์ความรู้ จากการดำเนินงานวิจัย จากผู้ทรงความรู้ จากเกษตรกรที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตพืชอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของ 7 จังหวัด 7 ชนิดพืช ในด้านสถานการณ์การผลิตประวัติความเป็นมา พันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต การป้องกันกำจัดศัตรูพืช