คลังเอกสารความรู้
การจัดการเชื้อพันธุกรรมพริกในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช - printable_version

+- คลังเอกสารความรู้ (https://www.doa.go.th/share)
+-- คลังข้อมูล: การจัดการความรู้ KM (https://www.doa.go.th/share/forumdisplay.php?fid=62)
+--- คลังข้อมูล: วิจัยด้านพืชและเทคโนโลยีการเกษตร (https://www.doa.go.th/share/forumdisplay.php?fid=63)
+--- เรื่อง: การจัดการเชื้อพันธุกรรมพริกในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช (/showthread.php?tid=2531)



การจัดการเชื้อพันธุกรรมพริกในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช - doa - 16-06-2023

การจัดการเชื้อพันธุกรรมพริกในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช
สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร

          พริก (pepper, chili) เป็นพืชที่จัดอยู่ในสกุล Capsicum วงศ์ Solanaceae ซึ่งพืชวงศ์นี้มีอยู่ประมาณ 90 สกุล ประกอบไปด้วยพืชสมาชิกมากกว่า 2,000 ชนิด โดยมีพืชมากกว่า 30 ชนิดที่อยู่ในสกุล Capsicum นี้ ในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์พริกเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก โดยมีพื้นฐานมาจากพริกที่นิยมปลูก 5 ชนิดหลัก ได้แก่ C. annuum L. (พวกต้นล้มลุก), C. baccatum L. (มีผลคล้ายเบอร์รี่), C. chinensis Jacq. (พริกมาจากจีน), C. frutescens L. (พวกยืนต้น), C. pubescens R. & P. (พริกมีขน) โดยทั่วไปพริกมีวิสัยพืชเป็นได้ทั้ง พืชล้มลุก ไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่เจริญได้ดีในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนของทวีปอเมริกา ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในทวีปเอเชียโดยชาวโปรตุเกส รวมถึงในประเทศไทยด้วย ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าพริกได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว จนกระทั่งคนไทยนิยมนำพริกมาใช้ในการปรุงอาหารกันอย่างแพร่หลาย พริกจึงเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก นอกจากใช้ในการบริโภคภายในประเทศแล้ว สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ หรือเป็นพืชส่งออกได้ด้วย ทั้งนี้พริกยังเป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหารค่อนข้างสูง เป็นแหล่งวิตามินซี วิตามินเอ และวิตามินอื่นๆ นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาและไม้ประดับได้อีกด้วย

          กรมวิชาการเกษตร ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรพันธุกรรมพริก ซึ่งเป็นเชื้อพันธุกรรมที่มีความหลากหลายในประเทศไทย เป็นพืชที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักคุ้นเคยและมีการใช้ประโยชน์กันอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พริกจึงเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ธนาคารเชื้อพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร เล็งเห็นถึงความสำคัญในการที่จะเก็บรวบรวมอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมเหล่านี้เอาไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช อาคารทรัพยากรพันธุกรรมพืชสิรินธร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ โดยมุ่งหวังให้เป็นฐานพันธุกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต โดยเชื้อพันธุ์เหล่านี้ต้องได้รับการดูแลและจัดการเป็นอย่างดีเพื่อคงความมีชีวิตของเชื้อพันธุ์ดังกล่าว

          การจัดทำคู่มือ “การจัดการเชื้อพันธุกรรมพริกในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช” ฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ของกลุ่มวิจัยพัฒนาธนาคารเชื้อพันธุ์พืชและจุลินทรีย์ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ตามแผนการจัดการความรู้ของกรมวิชาการเกษตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นคู่มือสำหรับการปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมพริกแก่บุคลากรในหน่วยงาน และบุคคลที่สนใจ ในการนี้สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพมีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เอกสารฉบับนี้จะเป็นพื้นฐานความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับการจัดการเชื้อพันธุกรรมพริกในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร พร้อมทั้งสามารถใช้เป็นคู่มือประกอบเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติงานของบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นต่อไป