การผลิตเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ

การผลิตเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศ

ฤดูปลูก

เพาะกล้าเดือนตุลาคม ย้ายปลูกเดือนพฤศจิกายน

ขั้นตอนการปฏิบัติงาน

1. การเลือกพื้นที่ ปลูกให้ห่างจากแปลงมะเขือพันธุ์อื่นอย่างน้อย 100 เมตร และไม่ควรปลูกซ้ำแปลงเดิม

2. การเตรียมดิน ไถดินลึก 30-40 เซนติเมตรตากดินทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ แล้วไถพรวนอีก 1-2 ครั้ง เก็บวัชพืชออก ถ้าดินมี pH ต่ำ ให้ปรับสภาพของดินโดยใช้ปูนขาว ประมาณ 200-300 กิโลกรัมต่อไร่ ทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ ควรใส่ปูนขาวก่อนปลูกอย่างน้อย 15 วัน

3. การเพาะกล้า เพาะในถาดเพาะกล้าหรือถุงพลาสติกขนาด 2.5×3 นิ้ว โดยเพาะเมล็ด 2-3 เมล็ด เมื่อต้นกล้างอกได้ ประมาณ 15 วัน ถอนแยกต้นกล้าให้เหลือถุงละ 1 ต้น พ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง เมื่อกล้าอายุประมาณ 1 เดือน ย้ายปลูกในแปลงปลูก พื้นที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ 40 กรัม

4. การปลูก ยกแปลงให้สูง ขุดหลุมตามระยะปลูกลึก 20 เซนติเมตร โดยใช้ระยะปลูก 0.5×1 เมตร พร้อมใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกในอัตรา 3-4 ตันต่อไร่ หินฟอสเฟต อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 80 กิโลกรัมต่อไร่ ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันกับดิน ใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา อัตรา 100 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านให้ทั่วแปลง จากนั้นคลุมแปลงด้วยฟางข้าวเพื่อเก็บรักษาความชื้นและคลุมวัชพืช นำกล้าที่มีอายุประมาณ 1 เดือน มาปลูกโดยปลูกหลุมละ 1 ต้น พื้นที่ 1 ปลูกได้ประมาณ 3,200 ต้น รดน้ำให้ชุ่มทันทีหลังปลูก

5. การดูแลรักษา

         5.1 การใส่ปุ๋ย  ระยะเริ่มออกดอก ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ และฉีดพ่นแคลเซี่ยมไนเตรท อัตรา 40-60 กรัม /น้ำ 20 ลิตร เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ผลแตก  ระยะติดผลขนาดเล็ก ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ หลังเก็บเกี่ยวครั้งแรก 30 กิโลกรัมต่อไร่ และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ เดือนละครั้ง ตลอดระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต

         5.2 การให้น้ำ ในระยะแรกเมื่อปลูกลงแปลงควรให้น้ำทุกวัน เมื่อโตขึ้นให้สังเกตความชื้นของดิน ถ้าดินมีความอุ้มน้ำดีอาจเว้นระยะการให้น้ำได้หลายวัน

         5.3 การคลุมดิน  คลุมดินด้วยฟางข้าว เพื่อรักษาความชื้นของดินและลดการระเหยของน้ำ

         5.4 การพ่นสารเคมี  พ่นสารเคมีป้องกันโรคและแมลงตามความจำเป็น ตามอัตราที่แนะนำ

         5.5 การกำจัดวัชพืช ควรทำเมื่อต้นยังเล็กอยู่

6. การตรวจสอบลักษณะที่ผิดปกติ ตรวจสอบ 2 ระยะ คือระยะที่ดอกเริ่มบานจนถึงติดผลอ่อนและเมื่อผลแก่ หากพบลักษณะต้นที่ผิดสังเกตให้ถอนทิ้งทันที

7. โรคและการป้องกันกำจัด

           7.1 โรคเหี่ยวเขียว

  • เชื้อสาเหตุ แบคทีเรีย Ralstonia solanacearum ชีววิทยาของเชื้อ พบระบาดมากในเขตร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 30-35 องศาเซลเซียส และความชื้นในดินสูง มีพืชอาศัยกว้าง เชื้อสามารถอยู่ในดินได้นาน เข้าทำลายพืชทางรากโดยเข้าตามบาดแผลหรือช่องเปิดตามธรรมชาติ สามารถแพร่ระบาดไปกับน้ำได้ดีและติดไปกับส่วนขยายพันธุ์
  • ลักษณะอาการ อาการเริ่มแรกใบล่างจะเหี่ยวและลู่ลง ใบแก่ที่อยู่ล่างๆ มีอาการเหลือง และใบที่เหี่ยวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ระยะแรกจะแสดงอาการเหี่ยวเฉพาะเวลากลางวันที่อากาศร้อนจัด ต่อมาอาการเหี่ยวจะนานขึ้นจนกระทั่งเหี่ยวถาวรทั้งวัน อาการจะลามขึ้นไปยังส่วนยอด ขอบใบม้วนลงด้านล่าง เมื่อถอนต้นขึ้นมาจะพบว่าเกิดอาการเน่าขึ้นที่ราก และถ้าตัดลำต้นออกตามขวางแช่ในน้ำใสภายใน 5-10 นาที จะมีเมือกสีขาวขุ่น (bacterial ooze) ไหลออกมาตามรอยตัดเป็นสายละลายปนกับน้ำออกมา เมื่อเป็นโรคมากภายในลำต้นจะกลวงเนื่องจากถูกเชื้อทำลายเนื้อเยื่อและตายในที่สุด
  • การแพร่ระบาด เชื้อสามารถแพร่กระจายอยู่ตามพื้นดินและอยู่ได้ในระดับดินลึก 30 ซม. และจะมีปริมาณน้อยลงในระดับ 60-75 ซม. แบคทีเรียสายพันธุ์จากมะเขือเทศมีชีวิตอยู่รอดในดินเหนียวที่มีสภาพเป็นกรด-ด่าง 6.9 นาน 12 สัปดาห์ ในดินร่วนเหนียวสภาพดินเป็นด่างอยู่ได้นาน 10 สัปดาห์ แต่ในดินร่วนเหนียวปนทรายสภาพดินมีอินทรียวัตถุสูงมีความเป็นกรด-ด่างปานกลาง 7.4 เชื้ออยู่ได้นาน 8 สัปดาห์ นอกจากนี้เชื้อยังสามารถอยู่ข้ามฤดูในดินได้โดยปราศจากพืชอาศัย โดยอยู่ในสภาพเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนในดิน และเมื่อมีพืชอาศัยเหมาะสมจะสามารถปรับตัวเป็นเชื้อสาเหตุโรคได้
  •  การป้องกันกำจัด       
    1)ควรหลีเลี่ยงพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้มาก่อนหรือใช้พันธุ์ต้านทานโรคเหี่ยวเขียว
    2)ฆ่าเชื้อสาเหตุในดินปลูกโดยการอบดินฆ่าเชื้อด้วยยูเรีย อัตรา 80 กิโลกรัม และ ปูนขาว อัตรา 800 กิโลกรัมต่อพื้นที่ 1 ไร่ โดยอบทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ก่อนปลูกพืช       
    3)เครื่องมือ, เครื่องใช้ควรจุ่มแอลกอฮอล์ 70% หรือ Clorox 10% ทุกครั้งที่ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย       
    4)หมั่นตรวจและสังเกตแปลงปลูกเสมอ เมื่อพบต้นที่แสดงอาการของโรคให้ขุดออกนำไปเผาทำลายขุดดินบริเวณรอบต้นนำไปฝังทำลาย โรยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุดออกเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค       
    5)ทำลายเชื้ออาศัยอื่น ๆ หรือวัชพืช เพื่อไม่ให้เป็นพืชที่อาศัยข้ามฤดู       
    6)ปรับระบบการใช้น้ำ ควบคุมความชื้นในดินไม่ให้มากเกินไป เพื่อลดความรุนแรงของโรค       
    7)ในพื้นที่ที่เกิดโรคระบาดควรปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค เช่น ข้าวโพด ข้าว ฝ้าย ถั่วเหลือง สลับกัน เป็นเวลา มากกว่า 1 ปี

        7.2 โรคกล้าเน่า-เน่าคอดิน หรือเน่าระดับดิน (DAMPING – OFF DISEASE)

  • เชื้อสาเหตุ       เชื้อรา Pythium periilum Drechsler
  • ลักษณะอาการ  เชื้อราเข้าทำลายเมล็ดก่อนเมล็ดพืชงอก เมล็ดมีลักษณะอาการเน่าทั้งที่ยังไม่งอกหรืองอกอยู่ในดิน ซึ่งทำให้สังเกตได้ยาก แต่หากเมล็ดงอกโผล่จากดินแล้วเจริญเป็นต้นกล้า เชื้อราเข้าทำลายที่ระดับดินโคนต้นกล้าเกิดอาการฉ่ำน้ำ ทำให้ต้นกล้าล้มพับอยู่เหนือดิน ใบเลี้ยงยังคงเขียว ไม่มีอาการเหี่ยว หากสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการเจริญของเรา ความชื้นสูง ทำให้ต้นกล้าเน่าเป็นหย่อมๆ ในแปลงกล้าหรือในกระบะเพาะกล้า
  • การแพร่ระบาด เชื้อรา Pythium เป็นพวกเกิดและอาศัยอยู่ในดิน ทำให้มันเข้าทำลายต้นกล้าพืชได้ทั้งก่อน และหลังการงอกของเมล็ดพืชในดิน การระบาดทำลายต้นกล้าได้รวดเร็ว ขึ้นอยู่กับชนิดและสภาพแวดล้อม
  • การป้องกันกำจัด
    1) การเตรียมแปลงเพาะควรย่อยดินให้ละเอียดและให้ถูกแดดจัดๆ นานพอสมควรก่อนการหว่านเมล็ด
    2) ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง คลุกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช (เชื้อรา) เมทาแลกซิลเพื่อควบคุมเชื้อราที่อาจติดมากับเมล็ด และป้องกันการเข้าทำลายจากเชื้อราที่อยู่ในดิน
    3) ไม่เพาะกล้าแน่นเกินไป ให้อากาศภายในเรือนเพาะชำมีการถ่ายเทได้สะดวก
    4) ไม่ควรรดน้ำในแปลงกล้ามากเกินไป แปลงกล้าควรมีการระบายน้ำได้ดีหากพบว่ามีโรคเกิดขึ้นในแปลงเพาะชำ ให้รีบควบคุมราด้วยสารเมทาแลกซิลหรือแคปแทนทันที แล้วรวมรวบต้นกล้าที่เป็นโรคออกจากโรงเรือน นำไปเผาทิ้งทำลาย

      7.3 โรคใบจุดวง (Early blight)

  • สาเหตุของโรค :  เกิดจากเชื้อรา Alternaria solani
  • ลักษณะอาการ สังเกตได้จากใบแก่เริ่มจากเป็นจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาล แผลค่อนข้างกลมแล้วขยายใหญ่ ออกไป การขยายตัวของจุดจะปรากฏรอยการเจริญของแผลเป็นวงสีน้ำตาลซ้อน ๆ กันออกไป ถ้าเกิดบนกิ่ง ลักษณะแผลรียาวไปตามลำต้น สีน้ำตาลปนดำเป็นวงซ้อน ๆ กัน ผลแก่ที่เป็นโรคแสดงอาการที่ขั้วผลเป็นแผลสีน้ำตาลดำ และมีลักษณะวงแหวนเหมือนบนใบ
  • การแพร่ระบาด เชื้อสาเหตุโรคนี้สามารถติดมากับเมล็ดพันธุ์ได้ โรคนี้จะเกิดมากในสภาพที่ความชื้นและ อุณหภูมิสูง ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะต่อการระบาดของโรคมาก ๆ จะทำให้อาการจุดวงขยายตัวอย่างรวดเร็วจนต่อเนื่องกันเกิดเป็นอาการใบแห้ง
  • การป้องกันกำจัด 
    1) คลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่สามารถกำจัดเชื้อสาเหตุที่ติดมากับ เมล็ดพันธุ์ได้ เช่น แมนโคเซบ ไอโพรไดโอน
    2) ถ้าระบาดในแปลงปลูก พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไอโพรไดโอน คลอโรทาโลนิล

       7.4 โรคราแป้ง  (Powdery mildew)

  • สาเหตุของโรค : เกิดจากเชื้อรา Oidiopsis sp.
  • ลักษณะอาการ อาการที่มองเห็นด้านบนใบจะปรากฏเป็นจุดสีเหลือง จุดเหลืองนี้จะขยายออกและจำนวนจุดบนใบจะมีมากขึ้น เมื่อโรคระบาดรุนแรงขึ้น จนบางครั้งมองเห็นเป็นปื้นสีเหลืองด้านบนใบ ตรงกลางปื้นเหลืองนี้อาจจะมีสีน้ำตาล ต่อมาใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทางด้านใต้ใบ ตรงบริเวณที่แสดงอาการปื้นเหลือง จะมีผงละเอียดคล้ายผงแป้งเกาะอยู่บาง ๆ มองเห็นได้ไม่ชัดเจนนัก เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นใบจะเหลือง จากส่วนล่างของต้นไปยังส่วนบนและใบที่เหลืองนี้จะร่วงหลุดไป ในสภาพอากาศเย็นบางครั้งจะพบผงสีขาวเกิดขึ้นบนใบได้ และลุกลามไปเกิดที่กิ่งได้
  • การแพร่ระบาด โรคนี้มักพบในระยะเก็บผลผลิต ทำให้ต้นโทรมเร็วกว่าปกติ
  • การป้องกันกำจัด
    1) ลดความชื้นบริเวณโคนต้นหรือในทรงพุ่ม โดยการตัดแต่งกิ่ง
    2) กำจัดวัชพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุ เช่น น้ำนมราชสีห์ และหญ้ายาง
    3) เมื่อพบโรค ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชบางชนิด เช่น กำมะถันผง ไดโนแคป

      7.5 โรคใบด่างเรียวเล็ก (Cucumber Mosaic Virus)

  • สาเหตุของโรค : เกิดจากเชื้อไวรัส
  • อาการ :  ต้นมะเขือเทศแคระแกรน ใบมะเขือเทศม้วนงอ ถ้าอาการรุนแรงมากขึ้น ใบมะเขือเทศจะ เรียวเล็กกว่าปกติ
  • การแพร่ระบาด โรคนี้สามารถถ่ายทอดโดยเพลี้ยอ่อน และวิธีการสัมผัสต้นมะเขือเทศที่แสดงอาการใบเรียวเล็กนี้ตั้งแต่ระยะเล็ก ๆ จะไม่ติดผล หรือถ้าติดผลจะเล็ก
  • การป้องกันกำจัด พ่นด้วยสารฆ่าแมลงที่สามารถกำจัดเพลี้ยอ่อนได้

       7.6 โรคใบหงิกเหลือง  (Tomato Yellow Leaf Curl)

  • สาเหตุของโรค :  เกิดจากเชื้อไวรัส
  • ลักษณะอาการ : ใบยอดหงิกเหลือง ม้วนงอ ใบมีขนาดเล็กลง ยอดเป็นพุ่ม และต้นแคระแกรน
  • การแพร่ระบาด  โรคนี้สามารถถ่ายทอดได้โดยวิธีทาบกิ่ง และมีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ วิธีทาบกิ่งสามารถ ถ่ายทอดโรคได้ 22% แมลงหวี่ขาวสามารถถ่ายทอดโรคได้ 88% จะต้องป้องกันมะเขือเทศมิให้เป็นโรคก่อนอายุ 60 วัน เพราะการเป็นโรคนี้ในระยะต้นโตและเริ่มติดผลแล้ว ไม่กระทบกระเทือนต่อผลผลิตมากนัก
  • การป้องกันกำจัด
    1) รักษาความสะอาดแปลงปลูก ควรเก็บเศษซากพืชที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ปลูก ออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะฟางข้าว
    2) ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยคอกและปูนขาว
    3) ถ้าปรากฏต้นมะเขือเทศที่เป็นโรคนี้ ควรรีบถอนทำลายด้วยการเผา
    4) แปลงที่มีโรคนี้ระบาดควรงดปลูกมะเขือเทศไม่น้อยกว่า 4 ปี
    5) ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช พีซีเอ็นบี เอทริไดอาโซล พีซีเอ็นบี + เอทริไดอาโซล สามารถลดอัตราการเป็นโรคลงได้ แต่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

8. การเก็บเกี่ยว เมื่ออายุประมาณ 60 วัน หลังปลูก เริ่มเก็บเกี่ยว เมื่อสีผลมีสีแดง นำผลไปบ่มในร่ม 2-3 วัน เพื่อให้เมล็ดแก่เต็มที่ จึงนำไปทำความสะอาด เพื่อแยกเอาเมล็ดออกจากผล

9. การทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์  นำผลมะเขือเทศใส่กระสอบปุ๋ย ทุบผลให้แตก แยกเปลือกผลและเมล็ดออกจากกัน หมักเมล็ดไว้ 1 คืน ห้ามใช้ถังเหล็กในการหมักเมล็ดเพราะเมล็ดที่กำลังหมักจะมีสภาพเป็นกรด จะทำปฏิกิริยากับถังหมักทำให้เมล็ดมีสีดำ ควรบรรจุเมล็ดเพียง ¾ ของถัง เพราะในขณะหมักเมล็ดจะเกิดแก๊สและปริมาณขยายเพิ่มขึ้น แล้วล้างเมล็ดให้สะอาด ในขณะล้างเมล็ด ส่วนเมล็ดจมอยู่ด้านล่าง ส่วนเนื้อและเมล็ดลีบจะลอยสามารถเทส่วนที่ไม่ต้องการออกล้างน้ำจนสะอาด และตากแดด 2-3 วัน จนเมล็ดแห้ง ควรตากเมล็ดในตะแกรงไนลอนและยกให้สูงจากพื้นดินอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อให้ลมพัดผ่านด้านล่างและด้านบนจะแห้งได้พร้อมกัน ในการตาก 1-2 วันแรก ควรเกลี่ยเมล็ดทุกๆ 2-3 ชั่วโมงตรวจสอบคุณภาพเมล็ด โดยการทดสอบความงอก เมล็ดต้องมีความงอกมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในภาชนะที่แห้งปราศจากความชื้น เก็บในโรงเก็บควบคุมอุณหภูมิ โดยมีการปรับอุณหภูมิ ให้อยู่ระหว่าง 4-15 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ให้คงความงอกได้นานผลผลิตเมล็ดพันธุ์ ในพื้นที่ 1 ไร่ จะให้ผลผลิตประมาณ 20-30 กิโลกรัม (ผลผลิตมะเขือเทศ ศก.1 น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ได้เมล็ดพันธุ์ 10 กรัม และมะเขือเทศ ศก.19 น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ได้เมล็ดพันธุ์ 9 กรัม)

ขอบคุณข้อมูลจาก คุณนิตยา  คงสวัสดิ์ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร

You missed