หนอนตายหยาก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Stemona tuberosa Lour.
ชื่อสามัญ : –
วงศ์ (Family) : Stemmonaceae
ชื่ออื่น : หนอนตายหยากเล็ก กะเพียดหนู โป่งมดง่าม สลอดเชียงคำ(อีสานโบราณ)
หนอนตายหยาก เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ลำต้น ตั้งตรง สูง 20-40 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านจำนวนมาก ราก แบบรากกลุ่มอยู่กันเป็นพวง คล้ายนิ้วมือ สีเหลืองอ่อน อวบน้ำ มีรากใต้ดินจำนวนมาก รากยาวได้ถึง 10-30 เซนติเมตร ใบเดี่ยว เรียงแบบสลับ รูปหัวใจ คล้ายใบพลู ก้านใบยาว เส้นใบมีหลายเส้นออกแนวขนานกับขอบใบ จำนวนเส้นใบแล้วแต่ชนิดพันธุ์ ออกดอกเป็นช่อ ออกที่ซอกใบ สีขาวหรือม่วงอ่อน ผลค่อนข้างแข็งสีน้ำตาลขนาดเล็ก พบตามป่าดิบแล้ง เมื่อถึงฤดูแล้ง ต้นเหนือดินจะโทรมหมด เหลือแต่รากใต้ดิน เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนใหม่ ใบจึงจะงอกออกมาพร้อมทั้งออกดอกรากมีพิษ รับประทานเข้าไปทำให้มึนเมา ถึงตายได้
สารออกฤทธิ์ที่สำคัญ Stemofoline
ผลที่มีต่อศํตรูพืช สารสกัดหนอนตายหยากแสดงผลสัมผัสตายและยับยั้งการกินอาหารของหนอนใยผักและหนอนกระทู้ผัก ฤทธิ์สัมผัสตายต่อด้วงถั่วเขียว
ส่วนที่ใช้ >> ราก
วิธีใช้ >>
- นำรากหนอนตายหยาก มาสับเป็นชิ้นเล็กๆ จำนวน 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร แช่ไว้ 1 คืน แล้วกรองเอาน้ำไปฉีดพ่นในแปลงปลูกพืช
(ไม่ควรเก็บไว้นานเพราะจะมีเชื้อราขึ้น) ฉีดพ่นทุก 3-5 วัน
- สกัดด้วยแอลกอฮอล์ โดยใช้ราก จำนวน 100 กรัม ต่อ แอลกอฮอล์ 1 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ กวนบ่อยๆ
นำน้ำมากรอง การนำไปใช้ ตวงสารสกัด 15-20 ซีซี ผสมน้ำ 10 ลิตร ฉีดพ่นในแปลงปลูกพืช ทุก 3-5 วัน
ประโยชน์ >>ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น หนอนกัดกินใบ หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก ด้วงถั่วเขียว เพลี้ยอ่อน
อ้างอิง >> พืชที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร