เชื้อบีที (Bt) คือ เชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis หรือเรียกว่า เชื้อบีที (Bt) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจัดเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์สามารถนำมาใช้กำจัดแมลงศัตรูพืช และ ศัตรูมนุษย์ได้มากมายหลายชนิด เนื่องจากมีความเฉพาะเจาะจงสูงในการทำลายเฉพาะแมลงเป้าหมายเท่านั้น เชื้อบีทีจึงเป็นจุลินทรีย์ที่มีความปลอดภัยสูงต่อมนุษย์ เช่น ผึ้ง แมลงห้ำ และแมลงเบียน เป็นต้น จากข้อดีของความเฉพาะเจาะจงต่อแมลงเป้าหมายเชื้อบีทีมีความปลอดภัยสูงไม่เป็นอันตรายต่อ มนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อม

       ดังนั้นทั่วโลกจึงได้มีการวิจัยและพัฒนาเชื้อบีทีอย่างกว้างขวาง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อนำมาใช้เป็นสารชีวินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูพืชและศัตรูมนุษย์ (microbial pesti-cide)

       เชื้อแบคทีเรียบีที ฆ่าแมลงได้อย่างไร

       เชื้อบีทีแตกต่างจากสารเคมีฆ่าแมลงที่ส่วนใหญ่มักจะถูกตัวตาย แต่เชื้อบีทีกำจัดแมลงศัตรูพืชนั้นแมลงจะต้องกินเชื้อบีทีเข้าไปจึงจะออกฤทธิ์ทำลายแมลงได้โดยทั่วไปเชื้อบีทีจะทำลายเฉพาะตัวอ่อนของแมลงเท่านั้น เช่น ตัวหนอนหรือลูกน้ำยุง จะไม่ทำลายแมลงศัตรูพืชระยะที่เป็นไข่หรือตัวเต็มวัย ยกเว้นบีทีบางสายพันธุ์ที่สามารถทำลายได้ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของด้วงปีกแข็งบางชนิด เมื่อแมลงกินสารพิษและสปอร์เข้าไปในกระเพาะ น้ำย่อยในกระเพาะมีคุณสมบัติเป็นด่างค่อนข้างสูงจะย่อยสารพิษซึ่งอยู่ในรูป protoxin ให้เป็น active toxin (สารพิษแท้จริง) ซึ่งจะเข้าทำลายเซลล์เยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบการย่อยอาหารและระบบทางเดินอาหารถูกทำลาย ระดับ ความเป็นกรด – ด่าง ภายในลำตัวของแมลงเปลี่ยนไปส่งผลให้แมลงไม่สามารถกินอาหารได้

       ขณะเดียวกันเมื่อผนังของกระเพาะอาหารถูกทำลายสปอร์ของบีทีและเชื้อโรคที่อยู่ในกระเพาะสามารถไหลผ่านจากรูแผลบนผนังกระเพาะเข้าสู่ระบบเลือดของแมลงและขยายทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้โลหิตเป็นพิษแมลงจะตายในเวลาต่อมา โดยทั่วๆไปแมลงจะตายภายในระยะเวลา 2 – 3 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของแมลงและปริมาณเชื้อที่กินเข้าไปด้วย

        ชนิดของแมลงศัตรูพืชที่สามารถควบคุมได้ด้วยเชื้อบีที

        หนอนใยผัก,หนอนคืบกะหล่ำ,หนอนกระทู้ผัก,หนอนกระทู้หอม,หนอนเจาะสมอฝ้าย,หนอนร่านกินใบปาล์ม,หนอนแปะใบส้ม,หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด,หนอนแก้วส้ม,หนอนกินสนสามใบ,หนอนหัวดำมะพร้าว