การผลิตเมล็ดพันธุ์มะเขือเปราะ

การผลิตเมล็ดพันธุ์มะเขือเปราะ

ฤดูปลูก  เพาะกล้าเดือนตุลาคม ย้ายปลูกเดือนพฤศจิกายน

การเพาะกล้ามะเขือเปราะ

1.ให้เตรียมดินละเอียดพร้อมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในอัตรา 2:1 และใส่ดินผสมดังกล่าวลงในถาด  พลาสติกเพาะกล้า

2.ใช้เศษไม้เล็กๆ (ขนาดเท่าไม้จิ้มผลไม้) กดลงไปในดินที่บรรจุอยู่ในถาดพลาสติกเพาะกล้า ขนาดความลึก 0.5 ซม.

3.นำเมล็ดมะเขือเปราะหยอดลงในหลุมปลูก หลุมละ 1-2 เมล็ด

4.กลบดินผิวหน้าเมล็ดไปจากถาดพลาสติกเพาะกล้า

5.หลังเพาะนาน 7-10 วัน มะเขือเปราะเริ่มงอก หมั่นรดน้ำต้นกล้ามะเขือเปราะทุกวันๆ ละ 1-2 ครั้ง ในช่วงเข้าและเย็นจนกระทั่งต้นกล้ามะเขือเปราะมีอายุ 25-30 วัน จึงย้ายกล้ามะเขือเปราะลงปลูกในกระถางหรือแปลงปลูก

 

การเตรียมดินและการปลูก

ปลูกในแปลง

ควรเตรียมดินปลูก โดยใช้จอบขุดย่อยดิน หน้าดินลึก 15-20 ซม. และย่อยดินให้ละเอียด ใส่ปุ๋ยคอกหรือใส่ปุ๋ยหมัก หว่านและคลุกเคล้าให้เข้ากับดินในแปลง ขุดหลุมลึกประมาณ 15 – 20 ซม. ระยะปลูก 50 X 50 ซม. ย้ายกล้าที่มีอายุ  1 เดือน ลงหลุมปลูก กลบดินให้พูนสูง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

ปลูกในกระถาง

ผสมดินปลูกในกระถาง โดยใช้ดินร่วนละเอียดผสมกับปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2:1 ย้ายกล้าที่มีอายุ 1 เดือน ลงกระถางปลูก กลบดินให้แน่น แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา (เก็บผลสด)

1.รดน้ำทุกวัน และในช่วงการติดผลต้องระมัดระวังในน้ำอย่างสม่ำเสมอ
2.หลังย้ายปลูกแล้ว 7-10 วัน ให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตราต้นละ 1/4 ช้อนชา ควรโรยปุ๋ยห่างโคนต้นประมาณ 2-3 เซนติเมตรและรดน้ำทันที
3.ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตราต้นละ 1/4 ช้อนชาทุกๆ 15 วัน
4.หลังย้ายปลูกนาน 45-60 วัน มะเขือเปราะเริ่มทยอยผลผลิต สามารถเก็บผลผลิตไปบริโภคได้
5.หลังจากที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตมะเขือเปราะไปแล้วประมาณ 2 เดือน ควรตัดแต่งกิ่งออกบ้าง เพื่อทำให้ลำต้นมะเขือเปราะเจริญเติบโตแตกกิ่งก้านใหม่ที่มีความแข็งแรง จะให้ผลผลิตรุ่นใหม่ได้อีก

การดูแลรักษา (เก็บเมล็ดพันธุ์)

  • ระยะเริ่มออกดอก ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่
  • ระยะติดผลขนาดเล็ก ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่
  • หลังเก็บเกี่ยวครั้งแรก ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่
  • ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ เดือนละครั้ง ตลอดระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต

การเก็บเกี่ยว เมื่ออายุประมาณ 90 วัน หลังปลูก เริ่มเก็บเกี่ยว สังเกตสีผลมีสีเหลือง นำผลไปบ่มในร่ม 1 สัปดาห์จนผลนิ่ม เพื่อให้เมล็ดแก่เต็มที่ จึงนำไปทำความสะอาด เพื่อแยกเอาเมล็ดออกจากผล

การทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ ทุบผลให้แตก แยกเปลือกผลและเมล็ดออกจากกัน หมักเมล็ดไว้ 1 คืน แล้วล้างเมล็ดให้สะอาด และตากแดด 2-3 วัน จนเมล็ดแห้ง ตรวจสอบคุณภาพเมล็ด โดยการทดสอบความงอก เมล็ดต้องมีความงอกมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในภาชนะที่แห้งปราศจากความชื้น เก็บในโรงเก็บควบคุมอุณหภูมิ โดยมีการปรับอุณหภูมิ ให้อยู่ระหว่าง 4-15 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ให้คงความงอกได้นานผลผลิตเมล็ดพันธุ์ ในพื้นที่ 1 ไร่ จะให้ผลผลิตประมาณ 80-100 กิโลกรัม

( มะเขือผลแก่จัดน้ำหนัก 1 กก. : มะเขือเปราะพิจิตร1  ได้เมล็ดพันธุ์ 75 กรัม มะเขือเปราะคางกบ1 ได้เมล็ดพันธุ์ 58 กรัม มะเขือเปราะคางกบ2 ได้เมล็ดพันธุ์ 61 กรัม และมะเขือยาวพิจิตร1 ได้เมล็ดพันธุ์ 31 กรัม)

 

 

 

ศัตรูที่สำคัญของมะเขือเปราะ
แมลงศัตรู

1.เพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟเป็นแมลงที่มีความสำคัญมากที่สุดชนิดหนึ่ง การระบาดของเพลี้ยไฟจะทำให้มะเขือหยุดการเจริญเติบโต ใบแข็งกระด้างบิดเบี้ยวเสียหาย เพลี้ยไฟส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณยอดอ่อน ด้านใต้ใบ เมื่อมีการทำลาย จะเห็นด้านใต้ใบเป็นสีน้ำตาลแดง หากทำลายที่ผล ทำให้ผลเป็นจุดกระด้างเสียคุณภาพ
การป้องกันกำจัด
1) ตรวจดูด้านใต้ใบมะเขือบริเวณยอดอยู่เสมอ หากพบการทำลายให้วางแผนกำจัดทันที
2) สารเคมีที่แนะนำให้ใช้ ได้แก่ สารอิมิดาโครพริด (imidacloprid)

2.เพลี้ยแป้ง
ทำให้เกิดใบหยิกหด ใบและยอดอ่อนหยิกและหด ข้อสั้นและอวบหญ่มีสีเขียวเข้มไม่เจริญต่อไป เพราะมีศัตรูที่มีแป้งสีขาวเกาะติดอยู่เป็นกระจุก
การป้องกันกำจัด ฉีดพ่นด้วยยาป้องกันกำจัดประเภทดูดซึม เช่นเดียวกับการกำจัดเพลี้ยไฟ

3. แมลงหวี่ขาว (whitefly)
แมลงหวี่ขาวในปัจจุบันนับว่าทวีความสำคัญต่อการปลูกมะเขือมากขึ้น มะเขือทุกชนิดได้รับความเสียหายโดยตรงจากแมลงหวี่ขาวมากขึ้น และที่สำคัญกว่านั้น แมลงหวี่ขาวยังเป็นพาหะนำโรคใบด่างเหลืองซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตมะเขือสั้นลง และมีผลต่อคุณภาพของผลมะเขือด้วย แมลงหวี่ขาวระบาดได้ตลอดทั้งปี และจะรุ่นแรงมากในช่วงฤดูแล้งและร้อน ในปัจจุบันแมลงหวี่ขาวมีการต้านทานสารเคมีมากขึ้น โดยเฉพาะสารเคมีในกลุ่มใหม่ ๆ ล่าสุดต้องมีการใช้สารเคมีมากขึ้นเกือบเท่าตัวโดยเฉพาะในกลุ่ม Neonicotenoids ซึ่งเป็นสารเคมีกลุ่มค่อนข้างใหม่

การป้องกันกำจัด
1) ตรวจดูแปลงปลูกอยู่เสมอ พลิกดูบริเวณใต้ใบมะเขือหากพบตัวเต็มวัยของแมลงหวี่ขาวเริ่มเข้ามาวางไข่ ให้เตรียมการใช้สารเคมี
2) สารเคมีที่แนะนำได้แก่ สารในกลุ่ม neonicotinoids ได้แก่ สารอิมิดาโครพริด โดยให้ใช้อัตราเป็นสองเท่าที่แนะนำในเพลี้ยไฟ และให้ใช้ร่วมกับ ปิโตรเลี่ยมออย หรือ ไวท์ออย ในอัตรา 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หากมีการระบาดมาก ให้ฉีดพ่นทุก 5 วัน 2-3 ครั้ง
3) หากหยุดระบาดแล้ว ให้ฉีดพ่น ปิโตรเลี่ยมออย อัตรา 50 ซีซี ต่อน้ำ 50 ลิตร ร่วมกับสารเคมีกำจัดหนอนทุกครั้ง

4. หนอนเจาะยอด หรือหนอนเจาะผล (Leucinodes orbonalis Guenee)
หนอนชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกัน คือจะเจาะทำลายทั้งที่ยอดอ่อนของมะเขือ และเจาะทำลายผลด้วยความเสียหายจะสูงสุดเมื่อเข้าทำลายผล เพราะผลมะเขือที่มีรอยเจาะจะไม่สามารถจำหน่ายได้ การระบาดอาจทำความเสียหายได้ถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ แมลงชนิดนี้เป็นผีเสือกลางคืนวางไข่บริเวณยอดอ่อน หรือกลีบดอกมะเขือ ถ้าเข้าทำลายที่ยอด ยอดมะเขือจะเหี่ยวพับลง สังเกตุได้ง่าย จะพบหนอนตัวสีแดง ชมพูอ่อน หนอนชนิดนี้จะเข้าทำลายผลมะเขือได้ทุกระยะ หากทำลายในระยะผลอ่อน ผลจะบิดเบี้ยว และม้วนงอได้ ส่วนผลที่มีขนาดโตแล้วจะสังเกตุได้โดยรูที่ผล ผลมะเขือที่พบรูของการเข้าทำลายจะไม่สามารถจำหน่ายได้

การป้องกันกำจัด
1) ตรวจดูแปลงปลูกอยู่เสมอ หากพบการระบาดเช่นมีอาการยอดเหี่ยวพับ หรือผลมะเขือเริ่มมีรอยถูกทำลาย หากพบให้เริ่มวางแผนกำจัดด้วยสารเคมี
2) ฉีดพ่นด้วนสารเคมี สารเคมีที่แนะนำได้แก่สารในกลุ่มยับยั้งการลอกคราบ ได้แก่ เบต้าไซฟลูทริน (2.5% EC) คาร์โบซัลแฟน พ่นเมื่อพบยอดอ่อนเหี่ยว 3-5% หรือผลถูกทำลาย 5-10% พ่นซ้ำตามความต้องการ

 

โรคที่สำคัญของมะเขือเปราะ

1.โรคผลเน่าดำ (Fruit rot)
เชื้อสาเหตุ เชื้อรา Phytophthora sp., Pythium sp.
ลักษณะอาการ ผลเน่าเป็นสีน้ำตาลเข้ม โดยเริ่มเป็นบริเวณเล็ก ๆ แล้วลุกลามขยายออกไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้ผลเน่าดำเกือบทั้งผล ผลที่เน่ามักหลุดร่วงจากต้น
การป้องกันกำจัด
1)เก็บชิ้นส่วนของพืชที่เป็นโรคออกจากแปลงและทำลายโดยการเผาไฟ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุ
2)ฉีดพ่นสารป้องกันและป้องกันโรคพืช ประเภทแมนโคเซปเป็นครั้งคราวอย่างทั่วถึงในทรงพุ่ม จะสามารถลดโอกาสการเกิดโรคเป็นอย่างมาก
3)ลดความชื้นในทรงพุ่ม โดยการปลูกให้ห่างขึ้นหรือตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง

2.โรคโคนเน่า
เชื้อสาเหตุ เชื้อรา
ลักษณะอาการ อาการที่พบคือต้นเหี่ยวเฉาตาย เมื่อถอนต้นขึ้นมาตรวจพบเชื้อรา เป็นเส้นใยสีขาวโคนต้นระดับดิน ทำให้โคนต้นแห้งเป็นสีน้ำตาล เชื้อราสร้างเส้นใยและมีเม็ดรา
เป็นสีขาวและดำเท่ากับเมล็ดผักกาด แทรกอยู่ระหว่างก้อนดินโคนต้น
การป้องกันกำจัด ถอนต้นที่เป็นโรคเผาไฟรวมทั้งดินโคนด้วยใส่ปูนขาวในหลุมที่เป็นโรค หรือละลายปูนขาวกับน้ำรดโคนต้น หรือยากำจัดเชื้อรา รดโคนต้นเมื่อปลูกใหม่ ควรปรับดิน ด้วยปูนขาวและใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ให้มาก ควรปลูกพืชอื่นหมุนเวียนในแหล่งที่มีโรคระบาดมาก

3. โรคใบด่าง 

เชื้อสาเหตุ ไวรัส มีแมลงปากดูดเป็นพาหะ
ลักษณะอาการ ใบของมะเขือ จะด่างลายมีสีเหลืองสลับเขียว เส้นใบขยายบวมโต ด่างลาย หดย่น หรือแผลเป็นวงซ้อนกัน สีเหลือง และอาการที่พบในส่วนอื่น ๆ ของพืช เช่น ผลผลิตบิดเบี้ยว ขนาดเล็กกว่าปกติ แต่ถ้าเกิดกับมะเขือที่ยังเล็กและไม่สมบูรณ์จะไม่ให้ผลผลิตเลย
การป้องกันกำจัด ยังไม่มีคำแนะนำในเรื่องการใช้สารเคมี แต่มีแนวทางป้องกันโดยกำจัดต้นที่เป็นโรคทิ้งไป ด้วยการถอนหรือตัดชิดดินขนออกจากแปลง แล้วเผาทิ้งทันที และพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงปากดูด เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของโรคนี้

4. โรคต้นและใบแห้งไหม้ (Phomopsis blight)

เชื้อสาเหตุ  เกิดจากเชื้อรา (Phomopsis vexans)
ลักษณะอาการ
ต้นกล้าหรือต้นอ่อน : เกิดแผลสีน้ำตาลหรือดำที่บริเวณลำต้น ทำให้ต้นล้ม ใบเหี่ยว และแห้งตาย
ต้นโต : เกิดแผลที่โคนต้นลักษณะเน่าแห้ง สีน้ำตาลหรือเทา ทำให้ลำต้นลีบหรือคอดลง บางครั้งเกิดอาการเปลือกแตกลอก ลักษณะเป็นสะเก็ด หากแผลเกิดรอบต้นจะทำให้ต้นและใบเหี่ยวทั้งต้น และอาจพบจุดสีดำเล็กๆ บริเวณแผล
ใบ : เป็นแผลกลมสีน้ำตาลอ่อน หรือเทา ตรงกลางซีดจางเล็กน้อย แผลที่เก่าจะมีจุดสีดำบริเวณแผล ในที่สุดใบจะเหลืองและแห้งตาย
ผล : เกิดแผลเน่าช้ำ สีซีด ยุบตัวลงจากพื้นผิวปกติ แผลอาจขยายใหญ่จนเต็มลูก ถ้าเป็นมากและสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะมีสีดำเกิดบริเวณแผลอาการจะเริ่มเป็นตั้งแต่เป็นดอก และลุกลามมาที่ก้านดอกและผลเล็ก ๆ ทำให้ผลเน่าแห้งดำทั้งผลค้างอยู่บนต้น

การแพร่ระบาด ปลิวไปตามลม น้ำที่กระเซ็น แมลง มนุษย์ เครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ และสามารถอยู่ข้ามฤดูได้ตามเศษ

การป้องกันและกำจัด
    1) เลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ที่รับรองการปราศจากเชื้อโรค หรือเก็บเมล็ดพันธุ์จากผล หรือต้นที่มั่นใจว่าไม่เป็นโรคมาก่อน ถ้าไม่มั่นใจให้แช่ในน้ำอุ่น 49-50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที และนำมาจุ่มในสารละลายจุนสี (cuso4) ก่อนปลูก
    2) เมื่อต้นกล้างอกและพบว่า มีบางต้นที่แสดงอาการของโรคให้รีบฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ไธแรม หรือ แคปแทน อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก ๆ 5-7 วัน และหลังจากย้ายแล้ว หากเกิดการระบาดในแปลงปลูก ให้ใช้สารเคมี มาเนบ หรือ แมนเซท ดี ฉีดพ่นทุก ๆ 5-7 วัน จนกว่าจะพ้นระยะการระบาด
    3)  หลีกเลี่ยงการปลูกมะเขือซ้ำที่เดิมที่มีประวัติการเป็นโรคอย่างน้อย 3 ปี และในระยะนี้ให้ปลูกพืชอื่นหมุนเวียน
    4) เก็บทำลายซากพืชที่เป็นโรคและต้นมะเขือที่งอกหลังเก็บเกี่ยวออกให้หมด

5. โรคแอนแทรคโนสหรือโรคผลเน่าหรือโรคกิ่งแห้งตาย

เชื้อสาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum melongenae

ลักษณะอาการ  ลูกมะเขือที่โตเต็มที่หรือปล่อยทิ้งไว้จะเกิดอาการแผลค่อนข้างกลมสีน้ำตาลยุบเป็นแอ่งลงไปในเนื้อ แผลที่เกิดอาจเป็นเพียงจุดเล็กๆ หรือโตถึงครึ่งนิ้ว และถ้าเป็นมากจนแผลที่เกิดขึ้นมาต่อเชื่อมกันแผลก็อาจใหญ่กว่านั้น เมื่ออากาศชื้นจะพบว่ามีผงสปอร์ของเชี้อราเป็นสีชมพูเห็นได้ชัดเจน ลูกมะเขือที่ถูกทำลายรุนแรงจะหลุดร่วงลงดิน เหลือส่วนที่เป็นก้านติดอยู่กับต้น ต่อมาอาจมีพวกเชื้อเน่าและเข้าทำลายต่อทำให้เน่าทั้งลูก หรือไม่ก็เน่าแห้งเป็นสีดำ นอกจากบนผลแล้วเชื้ออาจเข้าทำลายใบมะเขือ ทำให้เกิดอาการแผลจุดสีเหลืองหรือสีน้ำตาลขึ้น แต่แผลที่ใบส่วนใหญ่จะไม่กระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นและผลผลิต ส่วนลำต้นเป็นแผลสีน้ำตาลรียาวตามความยาวของลำต้นต้นเหี่ยวเฉาและแห้งตายกิ่งแห้งตาย

สภาพที่เหมาะสมกับการเกิดโรค
ความชื้นในอากาศสูง เช่น หลังฝนตก หรือคืนที่มีน้ำค้างลงจัด และต้นมะเขือมีความอ่อนแอและไม่แข็งแรง

การแพร่ระบาด
ปลิวไปตามลม น้ำที่กระเซ็น มนุษย์ สัตว์ เครื่องมือทางการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ การอยู่ข้ามฤดู เชื้อราจะอยู่ตาเศษซากพืชหรือผลมะเขือที่หล่นตามดิน หรือที่หลงเหลืออยู่บนต้น

การป้องกันและกำจัด
    1) เลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ที่รับรองการปราศจากเชื้อโรค หรือเก็บเมล็ดพันธุ์จากผล หรือต้นที่มั่นใจว่าไม่เป็นโรคมาก่อน ถ้าไม่มั่นใจให้แช่ในน้ำอุ่น 49-50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที และนำมาจุ่มในสารละลายจุนสี (cuso4) ก่อนปลูก
    2) เมื่อต้นกล้างอกและพบว่า มีบางต้นที่แสดงอาการของโรคให้รีบฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ไธแรม หรือ แคปแทน อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก ๆ 5-7 วัน และหลังจากย้ายแล้ว หากเกิดการระบาดในแปลงปลูก ให้ใช้สารเคมี มาเนบ หรือ แมนเซท ดี ฉีดพ่นทุก ๆ 5-7 วัน จนกว่าจะพ้นระยะการระบาด
    3)  หลีกเลี่ยงการปลูกมะเขือซ้ำที่เดิมที่มีประวัติการเป็นโรคอย่างน้อย 3 ปี และในระยะนี้ให้ปลูกพืชอื่นหมุนเวียน
    4) เก็บทำลายซากพืชที่เป็นโรคและต้นมะเขือที่งอกหลังเก็บเกี่ยวออกให้หมด

แหล่งข้อมูล คุณนิตยา คงสวัสดิ์  ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สถาบันวิจัยพืชสวน

Download file