12-23-2015, 03:28 PM
การประเมินความเสี่ยงในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรมด้านคุณภาพทางเคมี โลหะหนัก บริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติ เขตกรรมของประเทศไทย
จรีรัตน์ กุศลวิริยะวงศ์, สมสมัย เจริญรักษ์, เทวี แสนกล้า และญาณธิชา จิตต์สะอาด
กลุ่มวิจัยเกษตรเคมี สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
จรีรัตน์ กุศลวิริยะวงศ์, สมสมัย เจริญรักษ์, เทวี แสนกล้า และญาณธิชา จิตต์สะอาด
กลุ่มวิจัยเกษตรเคมี สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์คุณภาพน้ำ ตั้งแต่ตุลาคม 2549 ถึงกันยายน 2553 จากแม่น้ำจำนวนทั้งสิ้น 58 สาย แบ่งออกเป็น ภาคเหนือ 6 ลุ่มน้ำ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 ลุ่มน้ำ ภาคกลาง 4 ลุ่มน้ำ ภาคตะวันออก 3 ลุ่มน้ำ และภาคใต้ 3 ลุ่มน้ำ พบว่า คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรทางภาคเหนือ มีค่าความเป็นกรด-ด่างเฉลี่ยตั้งแต่ 6.7-9.1 ค่าการนำไฟฟ้าเฉลี่ยตั้งแต่ 17-365 us/cm at 25 °C ปริมาณเกลือโซเดียมเฉลี่ตั้งแต่ 0.06-2.55 me/L เกลือคลอไรด์เฉลี่ยตั้งแต่ตรวจไม่พบ-1.22 me/L เกลือไบคาร์บอเนตเฉลี่ยตั้งแต่ 0.30-2.60 me/L ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าความเป็นกรด-ด่างเฉลี่ยตั้งแต่ 6.8-8.9 ค่าการนำไฟฟ้าเฉลี่ยตั้งแต่ 9-1,072 us/cm at 25 °C ปริมาณเกลือโซเดียมเฉลี่ยตั้งแต่ 0.02-8.74 me/L เกลือคลอไรด์เฉลี่ยตั้งแต่ตรวจไม่พบ-8.30 me/L เกลือไบคาร์บอเนตเฉลี่ยตั้งแต่ตรวจไม่พบ-4.65 me/L และพบปริมาณเกลือโซเดียมและเกลือคลอไรด์ละลายอยู่สูงมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ที่บริเวณแม่น้ำมูล จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ พบว่า คุณภาพน้ำของแหล่งน้ำในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออก มีค่าความเป็นกรด-ด่างเฉลี่ยตั้งแต่ 6.8-8.6 และมีคุณภาพผันผวนมากที่สุด ในส่วนของค่าการนำไฟฟ้าเฉลี่ยตั้งแต่ 34-48,500 us/cm at 25 °C ปริมาณเกลือโซเดียมเฉลี่ยตั้งแต่ 0.09-477.17 me/L เกลือคลอไรด์เฉลี่ยตั้งแต่ตรวจไม่พบ -518.50 me/L เกลือไบคาร์บอเนตเฉลี่ยตั้งแต่ 0.25-3.95 me/L และภาคใต้คุณภาพน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีค่าความเป็นกรด-ด่างเฉลี่ยตั้งแต่ 6.8-8.4 ค่าการนำไฟฟ้าเฉลี่ยตั้งแต่ 29-381 us/cm at 25 °C ปริมาณเกลือโซเดียมเฉลี่ยตั้งแต่ 0.11-1.64 me/L เกลือคลอไรด์เฉลี่ยตั้งแต่ 0.08-1.79 me/L เกลือไบคาร์บอเนตเฉลี่ยตั้งแต่ 0.25-2.00 me/L ยกเว้นในบริเวณปากแม่น้ำ เช่น แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำระนอง และแม่น้ำตาปี นอกจากนี้ยังไม่พบการปนเปื้อนของกลุ่มโลหะหนัก ได้แก่ ตะกั่ว โครเมียม และแคดเมียมละลายอยู่ในแหล่งน้ำต่างๆ ที่สำรวจ ดังนั้น เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้บริเวณปากแม่น้ำจะมีความเสี่ยงในการใช้น้ำ และหากเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่พบปัญหาเรื่องดินเค็ม หรือบริเวณปากน้ำซึ่งมีปัญหาเรื่องน้ำทะเลหนุน หรือในบางลุ่มน้ำซึ่งพบปัญหาน้ำเค็มรุกเข้ามาในพื้นที่ เกษตรกรควรนำตัวอย่างน้ำมาวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบคุณภาพ และหาแนวทางแก้ไขปรับปรุงคุณภาพน้ำ หากว่าน้ำมีคุณภาพไม่เหมาะสม เพื่อให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นหรือเลือกปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ต่อไป