การพัฒนาวิธีการแบบผสมผสานเพื่อกำจัดข้าววัชพืชในนาข้าวชลประทาน แบบเกษตรกรมีส่วนร่วม
#1
การพัฒนาวิธีการแบบผสมผสานเพื่อกำจัดข้าววัชพืชในนาข้าวชลประทาน แบบเกษตรกรมีส่วนร่วม
จรรยา มณีโชติ, พนมวัน บุญช่วย, อริยา เผ่าเครื่อง และศันสนีย์ จำจด
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          ข้าววัชพืชเป็นปัญหาร้ายแรงที่ระบาดในนาหว่าน้ำตมเขตภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย ทำให้ผลผลิตข้าวเสียหายได้ตั้งแต่ 10 - 100% ในระหว่างปี พ.ศ. 2545 - 2550 ได้ดำเนินการวิจัยร่วมกับเกษตรกร นักวิจัยจากภาครัฐและเอกชน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาข้าววัชพืชวิธีการไถกระตุ้นให้ข้าววัชพืชงอกแล้วกำจัดทิ้งก่อนหว่านด้วยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สะอาด ร่วมกับการถอนต้นข้าววัชพืชในระยะเริ่มแตกกอและตัดรวงข้าววัชพืชชิดโคนต้นในระยะเริ่มออกดอก สามารถควบคุมการระบาดของข้าววัชพืชได้ หากดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี เมื่อนำตัวอย่างเมล็ดข้าวไปวิเคราะห์การปนเปื้อนของ DNA ข้าววัชพืชในแปลงเกษตรกรพบว่า การจัดการข้าววัชพืชโดยการใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดร่วมกับการตัดรวงข้าววัชพืชนั้น ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี จึงสามารถใช้เป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์ที่สะอาดได้ ในกรณีที่ข้าววัชพืชระบาดรุนแรง การใช้สารกำจัดวัชพืชสามารถกำจัดข้าววัชพืชได้ตั้งแต่ระยะที่ข้าววัชพืชเริ่มงอก แต่ปรับเทคนิคการใช้เพื่อลดความเป็นพิษต่อข้าว โดยใช้สารกำจัดวัชพืช dimethenamid อัตรา 45 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ในระยะทำเทือก และใช้สารกำจัดวัชพืช oxadiargyl อัตรา 40 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ในระยะ 8 วันหลังหว่านข้าว เมื่อข้าววัชพืชเริ่มตากเกสรสามารถใช้สารกำจัดวัชพืช glufosinate ammonium อัตรา 15 และ 30 กรัม สารออกฤทธิ์ต่อน้ำ 1 ลิตร ทำให้รวงข้าววัชพืชลีบได้มากว่า 96 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่เป็นอันตรายต่อข้าวปลูก ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ได้เริ่มมีการถ่ายทอดความรู้ในการกำจัดข้าววัชพืชให้แก่เกษตรกรทำให้พื้นที่การระบาดของข้าววัชพืชลดลง จากข้อมูลทั้งหมดสรุปได้ว่า ไม่มีวิธีการเดี่ยวๆที่จะกำจัดข้าววัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ การควบคุมข้าววัชพืชที่ได้ผลนั้นต้องใช้หลายวิธีการผสมผสานกัน ไม่ว่าจะเป็นเขตกรรมหรือสารเคมีโดยต้องเริ่มต้นด้วยการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่สะอาด


ไฟล์แนบ
.pdf   1790_2553.pdf (ขนาด: 367 KB / ดาวน์โหลด: 2,977)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม