ปฏิกิริยาของพันธุ์หน้าวัวลูกผสมต่อโรคเน่าดำ
#1
ปฏิกิริยาของพันธุ์หน้าวัวลูกผสมต่อโรคเน่าดำ
อมรรัตน์ ภู่ไพบูลย์, พจนา ตระกูลสุขรัตน์ และพีระวรรณ วัฒนวิภาส
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ได้ศึกษาปฏิกิริยาของพันธุ์หน้าวัวลูกผสมต่อโรคเน่าดำ ระหว่างเดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือนกันยายน 2552 โดยสำรวจ รวบรวม และเก็บตัวอย่างโรคเน่าดำหน้าวัวจากแหล่งปลูก นำมาแยกเชื้อบริสุทธิ์ เมื่อรวมกับเชื้อที่มีอยู่ใน culture collection ได้เชื้อสาเหตุโรคเน่าดำหน้าวัวจำนวน 6 ไอโซเลท จากจังหวัดลำปาง ภูเก็ต กรุงเทพ ปราจีนบุรี และนครปฐม ได้จำแนกชนิดของรา Phytophthora สาเหตุโรคเน่าดำหรือ Phytophthora rot ของหน้าวัว คือ รา P. parasitica พบว่า ราสาเหตุโรคเน่าดำของหน้าวัวไอโซเลทที่รุนแรงที่สุดคือ ไอโซเลท 46-An-Ba K 1 L จาก อ.มีนบุรี กรุงเทพฯ เมื่อนำมาศึกษาปฏิกิริยาของพันธุ์หน้าวัวลูกผสมต่อโรคเน่าดำ โดยปลูกเชื้อแก่ใบหน้าวัวพันธุ์/สายพันธุ์ต่าง ๆ ด้วยวิธี detached leaf พบว่า ราสาเหตุทำให้ใบหน้าวัวพันธุ์การค้านำเข้าจากต่างประเทศจำนวน 10 พันธุ์ เป็นโรคทุกพันธุ์ ได้ปลูกเชื้อหน้าวัวพันธุ์พื้นเมืองและสายพันธุ์/พันธุ์ลูกผสมกรมวิชาการเกษตร จำนวน 27 สายพันธุ์/พันธุ์ พบหน้าวัวต้านทานโรคปานกลางจำนวน 7 พันธุ์/สายพันธุ์ ได้แก่ เปลวเทียน, ผกามาศ, Hc-034, cot Lady Beth, Montana, นาไก, และแสงเทียน

          ได้ทดสอบหน้าวัวพันธุ์พื้นเมืองและสายพันธุ์/พันธุ์ ลูกผสมกรมวิชากาารเกษตร จากศูนย์บริการวิชาการฯ เชียงใหม่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ จำนวน 19 สายพันธุ์/พันธุ์ จากศูนย์วิจัยพืชสวนลำปาง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง จำนวน 41 สายพันธุ์/พันธุ์ ระหว่างเดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนกันยายน 2553 ผลการทดลองพบ หน้าวัวต้านทานโรคปานกลางจำนวน 7 พันธุ์/สายพันธุ์ ได้แก่ เปลวเทียน, ผกามาศ, Hc-034, cot Lady Beth, Montana, นาไก และแสงเทียน เช่นเดียวกับผลการทดลองในปีแรก และพบหน้าวัวพันธุ์ต้านทานโรคปานกลางเพิ่มอีกจำนวน 6 สายพันธุ์/พันธุ์ ได้แก่ 066-22, 006-11, T 21, 21-5, T 7 และ ฝ.32 เพื่อใช้เป็นพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ สำหรับใช้คัดเลือกพันธุ์หน้าวัวลูกผสมกรมวิชาการเกษตรต้านทานโรคเน่าดำต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   1764_2553.pdf (ขนาด: 130.75 KB / ดาวน์โหลด: 523)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม