การบริหารศัตรูลำไยแบบผสมผสาน
#1
การบริหารศัตรูลำไยแบบผสมผสาน
อมรรัตน์ ภู่ไพบูลย์, ทวี แสงทอง, ดำรง เวชกิจ, จีรนุช เอกอำนวย, พัชราภรณ์ ลีลาภิรมย์กุล, พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท, จรัญญา ปิ่นสุภา และสรรชัย เพชรธรรมรส
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่ 

          ได้ทำการทดลองการบริหารศัตรูลำไยแบบผสมผสาน ระหว่างเดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2553 ในสวนลำไยของเกษตรกรที่ อ.เมือง จ.ลำพูน และระหว่างเดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนกันยายน 2553 ในสวนลำไยของเกษตรกรที่อ.เมือง จ.นครราชสีมา แบ่งการทดลองเป็น 2 กรรมวิธี ได้แก่ สวนลำไยที่ดูแลตามแบบของเกษตรกร และสวนลำไยที่ปฏิบัติตามคำแนะนำการจัดการศัตรูลำไยแบบผสมผสานวิชาการอารักขาพืช คือ การเฝ้าระวังและติดตามการเป็นโรคของลำไยมีการกำจัดวัชพืชและกำจัดแมลงตามคำแนะนำและตามความเหมาะสม

          ผลการทดลอง ในสวนลำไยของเกษตรกรที่ อ.เมือง จ.ลำพูน ปีที่หนึ่ง ระหว่างเดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2551 ที่ปฏิบัติตามคำแนะนำการจัดการศัตรูลำไยแบบผสมผสาน หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำการตัดแต่งกิ่งลำไย ผลการติดตามการเป็นโรค ไม่พบการเป็นโรคกิ่งอ่อนและใบไหม้ (โรคราน้ำฝน) ไม่พบโรครากเน่า แต่พบโรคพุ่มไม้กวาด ทำการป้องกันกำจัดโดยตัดกิ่งที่เป็นโรค รวบรวมเผาทำลาย ใช้สารเคมีฆ่าไรพ่นต้นลำไยที่พบโรค ส่วนการจัดการวัชพืชทำโดยใช้รถไถตัดหญ้าระหว่างแถว หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ พ่นสารเคมีควบคุมวัชพืช alachior เพื่อคุมไม่ให้เมล็ดวัชพืชงอก และสารเคมีควบคุมวัชพืช glyphosate เพื่อกำจัดต้นวัชพืชที่ขึ้นอยู่ หลังการพ่นสารเคมีควบคุมวัชพืชดังกล่าว สามารถควบคุมวัชพืชได้อย่างน้อย 60 วัน ได้สำรวจปริมาณแมลงศัตรูลำไย พบการระบาดของแมลงเพลี้ยหอยเกราะอ่อน พ่นสารฆ่าแมลง 2 ครั้ง แต่การระบาดของแมลงเป็นไปอย่างรุนแรง ได้พ่นสารฆ่าแมลงซ้ำอีก 1 ครั้ง พบว่าปริมาณแมลงลดลง

          ผลการทดลองปีที่สอง ระหว่างเดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือนกันยายน 2552 ในสวนลำไยที่ปฏิบัติตามคำแนะนำการจัดการศัตรูลำไยแบบผสมผสาน หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทำการตัดแต่งกิ่งลำไย ผลการติดตามการเป็นโรค ไม่พบการเป็นโรคราน้ำฝน ไม่พบโรครากเน่าและไม่พบโรคพุ่มไม้กวาด ตัดแต่งกิ่งลำไยทดลองให้ทรงพุ่มโปร่งเพื่อลดการระบาดของโรคและแมลง ตัดกิ่งที่ไม่สมบูรณ์อ่อนแอ รวบรวมเผาทำลาย ส่วนการจัดการวัชพืชปฏิบัติเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาได้สำรวจปริมาณแมลงศัตรูลำไย พบการระบาดของแมลงเพลี้ยไก่แจ้ ทำการพ่นสารเคมีฆ่าแมลงโดยใช้การพ่นน้ำน้อยตามคำแนะนำคือ พ่นสารฆ่าแมลง Eforia 247 ZC (thiamethoxam + lambda cyhalothrin : 14:1 + 10.6 W/V ZC) อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยใช้อัตราพ่น 4 - 5 ลิตร/ต้น ส่วนกรรมวิธีการเกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลง carbosulfan (Kasumi 20% Ri) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยใช้อัตราพ่น 4 - 5 ลิตร/ต้น การระบาดลดลง

         ผลการทดลองปีที่สาม ระหว่างเดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนกันยายน 2553 ในสวนลำไยที่ปฏิบัติตามคำแนะนำการจัดการศัตรูลำไยแบบผสมผสาน หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทำการตัดแต่งกิ่งลำไย ผลการติดตามการเป็นโรค ไม่พบการเป็นโรคราน้ำฝน ไม่พบโรครากเน่าและไม่พบโรคพุ่มไม้กวาด ตัดแต่งกิ่งลำไยทดลอง ให้ทรงพุ่มโปร่งเพื่อลดการระบาดของโรคและแมลง ตัดกิ่งที่ไม่สมบูรณ์อ่อนแอ รวบรวมเผาทำลาย ส่วนการจัดการวัชพืชปฏิบัติเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาได้สำรวจปริมาณแมลงศัตรูลำไย ไม่พบการระบาดของแมลงเพลี้ยหอยเกราะอ่อน แต่พบการระบาดของแมลงเพลี้ยไก่แจ้ ปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ได้พ่นสารเคมีฆ่าแมลงโดยใช้การพ่นน้ำน้อยตามคำแนะนำ คือ พ่นสารฆ่าแมลง Eforia 247 ZC (thiamethoxam + lambda cyhalothrin : 14:1 + 10.6 W/V ZC) อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยใช้อัตราพ่น 4 - 5 ลิตร/ต้น ส่วนกรรมวิธีการเกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลง carbosulfan (Kasumi 20% Ri) อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยใช้อัตราพ่น 4 - 5 ลิตร/ต้น การระบาดลดลง

          ผลการทดลองในสวนลำไยของเกษตรกรที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ระหว่างเดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนกันยายน 2553 ที่ปฏิบัติตามคำแนะนำการจัดการศัตรูลำไยแบบผสมผสานหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ทำการตัดแต่งกิ่งลำไย ผลการติดตามการเป็นโรค ไม่พบการเป็นโรคราน้ำฝน ไม่พบโรครากเน่า แต่พบโรคพุ่มไม้กวาด ทำการการป้องกันกำจัดโดยตัดกิ่งที่เป็นโรค รวบรวมเผาทำลาย ใช้สารเคมีฆ่าไรพ่นต้นลำไยที่พบโรค ส่วนการจัดการวัชพืชทำโดยใช้รถไถตัดหญ้า ระหว่างแถวหลังจากนั้น 1 สัปดาห์ พ่นสารเคมีควบคุมวัชพืช alachior เพื่อคุมไม่ให้เมล็ดวัชพืชงอก และสารเคมีควบคุมวัชพืช glyphosate เพื่อกำจัดต้นวัชพืชที่ขึ้นอยู่ หลังการพ่นสารเคมีควบคุมวัชพืชดังกล่าวสามารถควบคุมวัชพืชได้อย่างน้อย 60 วัน ได้สำรวจปริมาณแมลงศัตรูลำไย พบการระบาดของไร ตัดกิ่งรวบรวมเผาทำลาย พ่นสารฆ่าไร 2 ครั้ง พบว่าปริมาณไรลดลง


ไฟล์แนบ
.pdf   1604_2553.pdf (ขนาด: 116.85 KB / ดาวน์โหลด: 1,015)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม