สาเหตุ และการแพร่กระจายของราเมือกที่ทำความเสียหายในการเพาะเห็ดถุงของประเทศไทย
#1
สาเหตุ และการแพร่กระจายของราเมือกที่ทำความเสียหายในการเพาะเห็ดถุงของประเทศไทย
อภิรัชต์ สมฤทธิ์, อัจฉรา พยัพพานนท์, ธารทิพย ภาสบุตร และสุณีรัตน์ สีมะเดื่อ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การสำรวจและเก็บรวบรวมตัวอย่างราเมือกที่พบเข้าทำลายก้อนเชื้อเห็ด และดอกเห็ดเห็ดขอนขาว เห็ดนางรม เห็ดภูฏาน เห็ดยานางิ เห็ดหูหนู เห็ดหอม และดอกเห็ดตีนแรด ในฟาร์มเพาะเห็ดเป็นการค้าและโรงเรือนทดลองเพาะก้อนเชื้อเห็ด Oudemansiella spp. ในพื้นที่ 23 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย ชุมพร ตาก นครปฐม พังงา พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ราชบุรี ระยอง ร้อยเอ็ด ลพบุรี ลำพูน ลำปาง เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ อุดรธานี และอุบลราชธานี ระหว่างเดือนตุลาคม 2550 ถึงเดือนกันยายน 2553 สามารถรวบรวมราเมือกได้จำนวน 201 ไอโซเลท ราเมือกที่พบเข้าทำลายเห็ดที่เพาะเป็นการค้า มีลักษณะเป็นเมือกเยิ้มเรียกว่า พลาสโมเดียม (plasmodium) สีเหลือง ส่วนใหญ่จะมีสีเหลืองตั้งแต่เหลืองเข้ม เหลืองสด จนถึงเหลืองอ่อนเกือบขาว แผ่ขยายหรือเจริญในลักษณะคล้ายรากพืช หรือบางทีพบเป็นรูปพัด บางครั้งพบระยะที่สร้างระยะสปอร์แรงเจียม (sporangium) เป็นกลุ่มก้านชูกลุ่มสปอร์ สีเทา สีน้ำตาลดำ หรือสีน้ำตาลอมม่วงเข้ม มีลักษณะคล้ายหัวไม้ขีดไฟหรือคล้ายธูป หรือบางชนิดเป็นกลุ่มคล้ายขนมคุกกี้สีเหลือง หรือสีครีมภายในเป็นกลุ่มของสปอร์แห้ง ราเมือกหรือ slime mold เป็นราที่จัดอยู่ใน Division myxomycota จากการตรวจสอบลักษณะสัณฐานวิทยา การเจริญ และวงจรชีวิตของราเมือกที่พบจำนวน 195 ไอโซเลท สามารถจำแนกได้เป็นราเมือก 4 สกุล (genus) ได้แก่ สกุล Arcyria จำนวน 4 ไอโซเลท, สกุล Fuligo จำนวน 52 ไอโซเลท, สกุล Physarum จำนวน 35 ไอโซเลท และสกุล Stemonitis จำนวน 104 ไอโซเลท ราเมือกเป็นราในดินที่พบได้ในสภาพแวดล้อมหรือโรงเรือนเพาะเห็ดที่มีความชื้นสูง หรือในโรงเรือนที่มีการเปิดก้อนเห็ดเก่าเอาไว้นานเกินกว่า 4 เดือน ราเมือกแพร่กระจายได้ดีในสภาพที่มีความชื้นในลักษณะพลาสโมเดียม นอกจากนั้น จากการสำรวจยังพบว่าราเมือกสามารถแพร่กระจายภายในโรงเรือนเพาะเห็ดได้โดยสปอร์แห้งจากสปอร์แรงเจียมโดยปลิวไปในอากาศ เมื่อประเมินความเสียหายจากการเข้าทำลายของราเมือกในฟาร์มที่ทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างพบว่า ความเสียหายของก้อนเชื้อเห็ดมีหลายระดับตั้งแต่ 5 – 50 เปอร์เซ็นต์


ไฟล์แนบ
.pdf   1749_2553.pdf (ขนาด: 465.67 KB / ดาวน์โหลด: 4,295)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม