เครื่องจักรกลเกษตรในการผลิตเมล็ดมะคาเดเมียระดับอุตสาหกรรม
#1
เครื่องจักรกลเกษตรในการผลิตเมล็ดมะคาเดเมียระดับอุตสาหกรรม
สนอง อมฤกษ์, ชัยวัฒน์ เผ่าสันทัดพาณิชย์, สถิตย์พงศ์ รัตนคำ, ประพัฒน์ ทองจันทร์, สมเดช ไทยแท้ และปรีชา ชมเชียงคำ
ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม

          การศึกษาวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแปรรูปเมล็ดมะคาเดเมียระดับอุตสาหกรรม ประกอบไปด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 การวิจัยและพัฒนาเครื่องกะเทาะเปลือกเขียว ซึ่งประกอบด้วยชุดเกลียวกะเทาะ ชุดแผ่นกดอัดเมล็ดและชุดถ่ายทอดกำลัง กิจกรรมที่ 2 การศึกษาทดสอบการอบแห้งกะลามะคาเดเมียโดยใช้เครื่องแบบกระบะสลับทิศทางลมร้อนซึ่งประกอบด้วย ห้องบรรจุเมล็ด ชุดหัวเตา หัวพัดลม และชุดระบบสลับทิศลมร้อนพร้อมท่อกระจายลม กิจกรรมที่ 3 ประกอบด้วยกิจกรรมที่ 3.1 การออกแบบและพัฒนาเครื่องกะเทาะเมล็ดมะคาเดเมียระดับอุตสาหกรรม ประกอบด้วยชุดคัดขนาด ชุดกะเทาะเมล็ด และชุดถ่ายทอดกำลัง กิจกรรมที่ 3.2 เครื่องกะเทาะแบบ 2 ขั้นตอน ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลักคือ ขั้นตอนการคัดขนาด ประกอบด้วยชุดลำเลียงและชุดแผ่นคัดขนาด ส่วนขั้นตอนการกะเทาะ ประกอบด้วยชุดเพลากะเทาะ ชุดรองกะเทาะ และชุดถ่ายทอดกำลัง ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่ ระหว่างเดือนมิถุนายน 2551 ถึงมิถุนายน 2553 ผลการศึกษากิจกรรมที่ 1 พบว่า มีความสามารถในการทำงานเฉลี่ย 634.77 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ได้เมล็ดเต็ม 99.50 เปอร์เซ็นต์ โดยมีจุดคุ้มทุนอยู่ที่การทำงาน 5,181 กิโลกรัมต่อปี ในกิจกรรมที่ 2 พบว่า การอบแห้งที่ความชื้นเริ่มต้น 8 เปอร์เซ็นต์เหลือความชื้นสุดท้าย 3 เปอร์เซ็นต์ ใช้อุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส เวลา 48 ชั่วโมง ความสิ้นเปลืองแก๊สหุงต้ม 1.40 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และความสิ้นเปลืองไฟฟ้า 0.75 หน่วยต่อชั่วโมง กิจกรรมที่ 3.1 พบว่า มีความสามารถในการทำงานเฉลี่ย 190 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ได้เมล็ดเต็ม 61.50 เปอร์เซ็นต์ โดยมีจุดคุ้มทุนอยู่ที่การทำงาน 2,334 กิโลกรัมต่อปี กิจกรรมที่ 3.2 พบว่า มีความสามารถในการทำงานเฉลี่ย 29.88 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ได้เนื้อในเต็ม 53.07 เปอร์เซ็นต์ โดยมีจุดคุ้มทุนอยู่ที่การทำงาน 1,090 กิโลกรัมต่อปี


ไฟล์แนบ
.pdf   1847_2553.pdf (ขนาด: 1.75 MB / ดาวน์โหลด: 634)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม