12-21-2015, 03:56 PM
ศึกษาความทนทานต่อความร้อนของแมลงวันผลไม้ระยะไข่ และหนอนในผลลำไยต่อวิธีการกำจัดแมลงด้วยความร้อนด้วยวิธีการอบไอน้ำ
สลักจิต พานคำ, ชัยณรัตน์ สนศิริ, มลนิภา ศรีมาตรภิรมย์, จารุวรรณ จันทรา, อุดร อุณหวุฒิ และรัชฎา อินทรกำแหง
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
สลักจิต พานคำ, ชัยณรัตน์ สนศิริ, มลนิภา ศรีมาตรภิรมย์, จารุวรรณ จันทรา, อุดร อุณหวุฒิ และรัชฎา อินทรกำแหง
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
การวิจัยพัฒนาวิธีการกำจัดแมลงด้วยความร้อนเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ oriental fruit fly, Bactrocera dorsalis (Hendel) ในผลลำไย (Dimocarpus longan L.) ศึกษาความทนทานต่อความร้อนของระยะไข่ หนอนวัยที่ 1, 2 และ 3 ภายในผลลำไยด้วยวิธีการอบไอน้ำ (Vapor heat treatment, VHT) เพื่อกำหนดระยะการเจริญเติบโตที่ทนทานต่อความร้อนมากที่สุด ในการทดลองที่ 1 อบลำไยกำจัดแมลงวันผลไม้ระยะไข่ หนอนวัยที่ 1, 2 และ 3 ด้วยการแยกอบแมลงแต่ละระยะในเครื่องตู้อบความร้อน โดยการเพิ่มอุณหภูมิผลเป็นอากาศร้อนที่อิ่มตัวด้วยไอน้ำ ความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบอัตราการตายของแมลงเมื่ออุณหภูมิภายในสุดผลคงอยู่ที่ 46 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลานาน 0, 10, 20, 30, 40, 50 และ 60 นาที สำหรับในการทดลองที่ 2 อบลำไยกำจัดแมลงระยะไข่และหนอนวัยที่ 1 ในเครื่องตู้อบความร้อนตู้เดียวกันโดยให้ความร้อนเหมือนกับในการทดลองที่ 1 เพื่อเปรียบเทียบอัตราการตายของแมลงที่อุณหภูมิภายในสุดผลคงอยู่ที่ 46 องศาเซลเซียส นาน 0, 10, 20, 30, 40 และ 50 นาที ในการทดลองที่ 1 พบว่าที่อุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที พบว่าหนอนวัยที่ 2 ตายทั้งหมดและเวลานาน 40 นาทีหนอนวัยที่ 1 และ 3 ตายทั้งหมด สำหรับไข่เป็นระยะที่ทนทานต่อความร้อนมากที่สุดใช้เวลานาน 50 นาที จึงสามารถกำจัดแมลงได้ทั้งหมด ในการทดลองที่ 2 อบลำไยกำจัดแมลงระยะไข่กับหนอนวัยที่ 1 ผลการทดลองพบว่าที่อุณหภูมิและระยะเวลาดังกล่าว อัตราการตายของไข่และหนอนวัยที่ 1 ใช้เวลาเท่ากับการทดลองที่ 1 จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าระยะไข่มีความทนทานต่อความร้อนมากที่สุด ดังนั้นในการวิจัยพัฒนาวิธีการอบไอน้ำ เพื่อใช้เป็นวิธีการกำจัดศัตรูพืชด้านกักกันพืช (plant quarantine treatment) สำหรับกำจัดแมลงวันผลไม้ในผลลำไยก่อนส่งออก ควรประเมินประสิทธิภาพกระบวนการอบไอน้ำ (VHT) เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ในระยะไข่