การควบคุมโรคเหี่ยวแบคทีเรียของมะเขือเทศโดยชีววิธี
#1
การควบคุมโรคเหี่ยวแบคทีเรียของมะเขือเทศโดยชีววิธี
วงศ์ บุญสืบสกุล, ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์, บูรณี พั่ววงศ์แพทย์, สุรีย์พร บัวอาจ, วิลาวัลย์ ใคร่ครวญ และธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์
กลุ่มงานบักเตรีวิทยา กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, ศูนย์วิจัยพืชสวนกาญจนบุรี  และศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ

          เก็บรวบรวมตัวอย่างโรคเหี่ยวแบคทีเรียมะเขือเทศในพื้นที่ปลูกภาคกลางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แยกได้เชื้อที่เป็นสาเหตุโรคเหี่ยวมะเขือเทศ 19 ไอโซเลท เมื่อนำมาทดสอบต่อเชื้อปฏิปักษ์ที่เก็บรักษาไว้ที่กลุ่มงานบักเตรีวิทยาพบว่า มีเชื้อที่มีคุณสมบัติปฏิปักษ์ 9 ไอโซเลท โดยนำเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Rs ทดสอบแบบการเผชิญหน้า (direct bioassay) ด้วยวิธี disc diffusion และ double layer culture พบเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ 5 ไอโซเลท แสดงคุณสมบัติยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคดังกล่าวได้ดี (inhibited zone) มีขนาด 4.25-10.75 มิลลิเมตร จากการทดสอบเชื้อมีชีวิต และ 6.25 - 12.00 มิลลิเมตร จากการใช้อาหารกรองของเชื้อ คัดเลือกเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ดังกล่าวจำนวน 5 ไอโซเลท ทดสอบความสามารถการควบคุมโรคเหี่ยวของมะเขือเทศในโรงเรือนปลูกพืชทดลองในสภาพก่อนและหลังการเป็นโรค โดยก่อนปลูกแช่รากถึงโคนต้นของต้นกล้ามะเขือเทศด้วยสารละลายเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์อัตราความเข้มข้น 109 หน่วยโคโลนีต่อมิลลิลิตร นาน 2 - 3 นาที แล้วราดด้วยสารละลายเชื้อเดียวกันอัตราความเข้มข้น 10(6) หน่วยโคโลนีต่อมิลลิลิตร ปริมาตร 10 มิลลิลิตรต่อกระถาง 4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน พบว่า เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ทั้ง 5 ไอโซเลท สามารถป้องกันการเกิดโรคได้แต่ไม่สามารถควบคุมโรคได้ถ้าเชื้อเข้าทำลายพืชนั้นแล้ว พบว่าเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคของกรรมวิธีใช้เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ก่อนที่พืชจะเป็นโรคแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิต จากกรรมวิธีเปรียบเทียบเชื้อปฏิปักษ์ทั้ง 5 ไอโซเลท สามารถควบคุมและลดการเกิดโรคเหี่ยวของมะเขือเทศได้ 41.1 ถึง 80.0% การตรวจสอบปริมาณเชื้อ Rs ในดินบริเวณรากมะเขือเทศพบว่า ทุกกรรมวิธีของเชื้อปฏิปักษ์มีประชากรเชื้อสาเหตุโรคลดลง ทดสอบการควบคุมโรคเหี่ยวของมันฝรั่งในสภาพแปลงทดลองโดยการคลุกหัวพันธุ์มันฝรั่งก่อนปลูกด้วยสารละลายเชื้ออัตราเดียวกับที่ใช้ในสภาพเรือนปลูกพืชทดลอง และราดด้วยสารละลายเชื้ออัตราเดียวกันปริมาตร 10 มิลลิลิตรต่อหลุม 4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน พบว่าทุกกรรมวิธีของการใช้เชื้อปฏิปักษ์สามารถควบคุมและลดการเกิดโรคเหี่ยวของมันฝรั่งได้ 15.8 ถึง 44.9% มีเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


ไฟล์แนบ
.pdf   1646_2554.pdf (ขนาด: 128.39 KB / ดาวน์โหลด: 3,798)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม