12-09-2015, 02:03 PM
การพัฒนากระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์และผลิตภัณฑ์ในเชิงอุตสาหกรรม
วิไลวรรณ ทวิชศรี, ปิยะนุช นาคะ, สมชาย วัฒโยธิน, เสรี อยู่สถิตย์, สุภาพร ชุมพงษ์, ผานิต งานกรณาธิการ, ยุพิน กสินเกษมพงษ์, ปานหทัย นพชินวงศ์, ทิพยา ไกรทอง, ปริญดา หรูนหีม, ดำรงค์ พงษ์มานะวุฒิ และวิษณุศิลป์ เพ็ชรรักษ์
ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร และสถาบันวิจัยพืชสวน
วิไลวรรณ ทวิชศรี, ปิยะนุช นาคะ, สมชาย วัฒโยธิน, เสรี อยู่สถิตย์, สุภาพร ชุมพงษ์, ผานิต งานกรณาธิการ, ยุพิน กสินเกษมพงษ์, ปานหทัย นพชินวงศ์, ทิพยา ไกรทอง, ปริญดา หรูนหีม, ดำรงค์ พงษ์มานะวุฒิ และวิษณุศิลป์ เพ็ชรรักษ์
ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร และสถาบันวิจัยพืชสวน
งานวิจัยและพัฒนาเรื่องนี้ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรในช่วง พ.ศ. 2548-2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่มะพร้าวผลแก่โดยศึกษาและพัฒนากระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าว แปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าว และขยายผลถ่ายทอดชุดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมายโดยมุ่งให้มีการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตมะพร้าวอย่างครบวงจรและรักษามาตรฐานการผลิตมะพร้าวให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน มีการดำเนินการ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ค้นคว้าให้ได้ชุดเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ โดยการศึกษาพัฒนากระบวนการผลิต ศึกษาอายุการเก็บรักษา วิเคราะห์หาปริมาณกรดลอริก และแปรรูปน้ำมันมะพร้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขั้นตอนที่ 2 ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมาย และขั้นตอนที่ 3 ติดตามประเมินผลการถ่ายทอดเทคโนโลยี และความพึงพอใจในการนำเทคโนโลยีไปใช้
ผลการวิจัยพบว่า การผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์จากกรรมวิธีการผลิตแบบหมัก แบบเหวี่ยง และแบบหีบ จะได้ปริมาณน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์เท่ากับ 20 24 และ 25 %ของน้ำหนักมะพร้าวขูด กรรมวิธีการผลิตแบบหมักไม่ต้องใช้เครื่องมือราคาสูงสามารถผลิตในครัวเรือนได้ และทำเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพอิสระได้ สามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตมะพร้าวแก่ได้ประมาณ 3 เท่า และน้ำมันที่ผลิตด้วยกรรมวิธีนี้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค สามารถเก็บรักษาได้นาน 1 ปี เช่นเดียวกับน้ำมันจากกรรมวิธีการเหวี่ยง ส่วนน้ำมันจากกรรมวิธีการผลิตแบบหีบมีอายุการเก็บรักษา 18 เดือน การศึกษาและพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำมันมะพร้าวพบว่า ผลิตภัณฑ์สบู่น้ำมันมะพร้าว ครีมสมานรอยเท้าแตก น้ำมันเคลือบเส้นผม และลิปบาล์ม มีวิธีการผลิตที่ไม่ซับซ้อน เมื่อเผยแพร่เทคโนโลยีไปผู้รับสามารถนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นอาชีพได้ มะพร้าวทุกสายพันธุ์สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ แต่แนะนำให้ใช้พันธุ์ลุกผสมชุมพร 2 เรนเนลล์ต้นสูง มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย ชุมพรลูกผสม 60 สวีลูกผสม 1 และไทยสีแดงต้นเตี้ย (หมูสีส้ม) เนื่องจากให้น้ำมันมีปริมาณกรดลอริคสูงกว่า 49.0%
การขยายผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีพบว่า ผู้ผ่านการอบรม 1,237 คน ผู้เข้าชมการสาธิตและนิทรรศการ 5,850 คน และผู้เข้าดูงานที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร 215 คน ทั้งนี้ไม่รวมผู้ที่ได้รับเทคโนโลยีผ่านสื่อต่างๆ การติดตามประเมินผลพบว่า ผู้ผ่านการอบรมมีความรู้มากขึ้นและผู้ผ่านการอบรมร้อยละ 53.6 มีรายได้จากการทำน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์หรือผลิตภัณฑ์ โดยผู้มีรายได้มากกว่า 24,000 บาทต่อปี จะซื้อวัตถุดิบในการผลิตจากเพื่อนบ้านและพ่อค้าคนกลางนอกจากใช้วัตถุดิบจากสวนตัวเอง จึงมีกาารกระจายรายได้จากการผลิตสู่เกษตรกรและในระบบอุตสาหรรมการผลิต ซึ่งส่งผลต่อการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตมะพร้าวอย่างครบวงจร และรักษาฐานการผลิตมะพร้าวให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน