12-04-2015, 11:46 AM
ยางพาราพันธุ์ "เฉลิมพระเกียรติ 984"
กรรณิการ์ ธีระวัฒนสุข, นภาวรรณ เลขะวิพัฒน์, กัลยา ประพาน, กฤษดา สังข์สิงห์, อารมณ์ โรจนสุจริต, รชต เกงขุนทด, พรรษา อดุลยธรรม และวิภาวี พัฒนกุล
ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา, ศูนย์วิจัยยางหนองคาย, ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตพืชบุรีรัมย์, ศูนย์วิจัยยางสงขลา และสถาบันวิจัยยาง
กรรณิการ์ ธีระวัฒนสุข, นภาวรรณ เลขะวิพัฒน์, กัลยา ประพาน, กฤษดา สังข์สิงห์, อารมณ์ โรจนสุจริต, รชต เกงขุนทด, พรรษา อดุลยธรรม และวิภาวี พัฒนกุล
ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา, ศูนย์วิจัยยางหนองคาย, ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตพืชบุรีรัมย์, ศูนย์วิจัยยางสงขลา และสถาบันวิจัยยาง
การปรับปรุงพันธุ์ยางมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูง มีลักษณะรองที่ดี เช่น การเจริญเติบโตดี ต้านทานโรคที่สำคัญ ปรับตัวได้ดี เริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2535 โดยดำเนินงานผสมพันธุ์ยางที่ศูนย์วิจัยฉะเชิงเทรา ได้ต้นกล้าลูกผสมจำนวน 2,175 ต้น นำลงปลูกในแปลงคัดเลือกพันธุ์ยางเบื้องต้น คัดเลือกได้ต้นกล้าลูกผสมระหว่างพันธุ์ PB 5/51 กับ RRIC 101 ที่ปลูกในลำดับที่ 1396 (RRI-CH-35-1396 เปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันวิจัยยาง 408 ในปี พ.ศ. 2545 และเปลี่ยนชื่อเป็นเฉลิมพระเกียรติ 984 ในปี พ.ศ. 2554) นำไปปลูกในแปลงเปรียบเทียบพันธุ์ยางขั้นต้น ขั้นปลาย และทดสอบพันธุ์ยาง ในระหว่างปี พ.ศ. 2539-2546 ผลการทดลองพบว่า พันธุ์ยางเฉลิมพระเกียรติ 984 ให้ผลผลิตเนื้อยางแห้งสูงมาก มีค่าเฉลี่ย 329.6 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี มากกว่าพันธุ์เปรียบเทียบ RRIM 600 ที่ให้ผลผลิต 235.1 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี คิดเป็นร้อยละ 53 การเจริญเติบโตระยะก่อนเปิดกรีดดี ทำให้เปิดกรีดได้เร็ว โดยมีค่าเฉลี่ยขนาดเส้นรอบวงลำต้นโตกว่าพันธุ์ RRIM 600 ระหว่างร้อยละ 7-10 และมีค่าเฉลี่ยขนาดเส้นรอบวงลำต้นที่เพิ่มแต่ละปีระหว่าง 6.0-8.2 สูงกว่าพันธุ์ RRIM 600 ระหว่างร้อยละ 8-15 มีขนาดลำต้นสม่ำเสมอกันดี ทำให้มีจำนวนต้นยางที่สามารถเปิดกรีดได้มากตั้งแต่ปีแรกของการเปิดกรีด มีเปลือกหนา จำนวนวงท่อน้ำยางมาก ต้านทานโรคราแป้งและใบร่วงไฟทอฟธอราในระดับปานกลาง มีจำนวนต้นเสียหายจากภาวะแห้งแล้งน้อย มีลักษณะรูปทรงลำต้นตรง ลักษณะกลม การแตกกิ่งสมดุลย์ในระดับสูง ทำให้สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัด เช่น ลาดชัน มีระดับน้ำใต้ดินสูง มีข้อจำกัดคือ ไม่เหมาะสมสำหรับการใช้ระบบกรีดยางที่มีจำนวนวันกรีดมาก เพราะต้นยางจะเกิดอาการเปลือกแห้งได้ง่าย จากการทดลองดังกล่าวนี้กล่าวได้ว่า พันธุ์ยางเฉลิมพระเกียรติ 984 เป็นพันธุ์ยางที่มีลักษณะสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงพันธุ์ และมีศักยภาพในการแนะนำพันธุ์ให้เป็นหนทางเลือกอีกด้านหนึ่งของเกษตรกรในการพิจารณาเลือกปลูกยางพาราเพื่อเอาผลผลิตน้ำยาง ซึ่งได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นจากชั้น 2 ในคำแนะนำพันธุ์ยางปี พ.ศ. 2550 เป็นพันธุ์ยางชั้น 1 ในคำแนะนำพันธุ์ยางปี พ.ศ. 2554