การใช้สารเสริมประสิทธิภาพความแข็งแรงในการป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากแบคทีเรียกล้วยไม้
#1
การใช้สารเสริมประสิทธิภาพความแข็งแรงในการป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากแบคทีเรียของกล้วยไม้แวนดาแอสโคเซนดา
ดารุณี ปุญญพิทักษ์, ณัฎฐิมา โฆษิตเจริญกุล, ทัศนาพร ทัศคร และวิภาดา ทองทักษิณ
กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และสถาบันวิจัยพืชสวน

          กล้วยไม้แวนดาแอสโคเซนดา เป็นกล้วยไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งเนื่องจากมีการส่งออกเป็นจำนวนมากแต่การผลิตกล้วยไม้แวนดาแอสโคเซนดา เพื่อการส่งออกมักพบปัญหากล้วยไม้เป็นโรคซึ่งโรคที่สำคัญ คือ โรคแบคทีเรีย ได้แก่ โรคเน่าสีน้ำตาล และโรคใบจุด การป้องกันกำจัดโรคใบจุดกล้วยไม้ที่เกิดจากแบคทีเรียทำได้ยากมีสารเคมีเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถใช้ป้องกันกำจัดโรคได้ ได้แก่ สารประกอบทองแดง (copper compounds) และสารแอนติไบโอติก (antibiotic) อย่างไรก็ตาม กล้วยไม้บางชนิดอ่อนแอต่อสารประกอบทองแดง และการใช้สารแอนติไบโอติกมีค่าใช้จ่ายสูงและทำให้แบคทีเรียสาเหตุโรคเกิดการดื้อต่อสารแอนติไบโอติกได้ ดังนั้นการควบคุมโรคกล้วยไม้ที่เกิดจากแบคทีเรียควรใช้วิธีป้องกันการเกิดโรค ได้มีรายงานการใช้สารเสริมความแข็งแรงหลายชนิดในการป้องกันกำจัดโรคพืช ในการทดลองครั้งนี้จึงได้นำสารเสริมต่างๆ มาทดสอบกับโรคแบคทีเรียของกล้วยไม้แวนดาแอสโคเซนดา โดยดำเนินการทดสอบสารเสริม ได้แก่ ซิลิคอน แคลเซียม ซิลิเกต ไคโตซาน น้ำปูนใส และคลอรีน วางแผนการทดลองแบบ CRD 4 ซ้ำ 12 กรรมวิธี ทำการปลูกแบคทีเรีย Acidovorax avenae pv. cattleyae โดยวิธี injection โดยปลูกเชื้อก่อนพ่นสารเสริม 1 วัน และปลูกเชื้อหลังการพ่นสาร 1 วัน ทำการพ่นสารทุกๆ 7 วัน จำนวน 4 ครั้ง ตรวจผลการทดสอบพบว่า ในทุกกรรมวิธีพืชทดลองแสดงอาการใบจุดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแต่ในต้นพืชที่ปลูกเชื้อหลังการพ่นสารแสดงอาการของโรคช้ากว่าพืชที่ปลูกเชื้อก่อนการพ่นสารแสดงให้เห็นว่า การปลูกเชื้อโดยใช้วิธี injection เป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมในการทดสอบเนื่องจากเป็นการเปิดบาดแผลและใส่เชื้อเข้าไปในพืชโดยตรงทำให้สารเสริมไม่ได้ผล จึงได้เปลี่ยนแปลงวิธีการปลูกเชื้อใหม่ให้ใกล้เคียงธรรมชาติโดยใช้วิธีการพ่นแบคทีเรีย A. avenae pv. cattleyae และ Burkholderia gladioli ลงบนใบกล้วยไม้ และให้ความชื้น ผลการทดสอบพบว่า ใบกล้วยไม้แสดงอาการของโรคชัดเจน การทดลองต่อไปจะนำวิธีการนี้ไปใช้ในการปลูกเชื้อเพื่อทดสอบสารเสริม


ไฟล์แนบ
.pdf   2316_2556.pdf (ขนาด: 96.21 KB / ดาวน์โหลด: 764)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม