11-30-2015, 10:54 AM
การทดสอบประสิทธิภาพสารประเภทพ่นทางใบในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูที่สำคัญในถั่วเหลือง
สุเทพ สหายา, บุญทิวา วาทิรอยรัมย์, พวงผกา อ่างมณี และอมรา ไตรศิริ
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา และกลุ่มบริการโครงการวิจัย สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สถาบันวิจัยพืชไร่
สุเทพ สหายา, บุญทิวา วาทิรอยรัมย์, พวงผกา อ่างมณี และอมรา ไตรศิริ
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา และกลุ่มบริการโครงการวิจัย สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สถาบันวิจัยพืชไร่
การทดสอบประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูที่สำคัญในถั่วเหลืองโดยวิธีการพ่นสารทางใบ ดำเนินการที่แปลงศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 – กันยายน 2555 ทั้งฤดูกาลปลูกปี 2554 และ 2555 สำรวจพบการระบาดของแมลงหวี่ขาวยาสูบ ; Bamisia tabaci Gennadius วางแผนการทดลองแบบ RCB 4 ซ้ำ 6 กรรมวิธี ได้แก่ การพ่นสาร imidacloprid (Provado 70%WG), thiamethoxam (Actara 25%WG), buprofezin (Napam 25%WP), buprofezin (Napam 25%WP) + white oil (Vite oil 67%EC) และ white oil (Vite oil 67%EC) อัตรา 10, 10, 40, 20+50 และ 100 กรัมหรือมิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ตามลำดับ เปรียบเทียบกับกรรมวิธีไม่พ่นสาร ปี 2554 ทำการพ่นสารตามกรรมวิธี 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน ส่วนปี 2555 พ่นสารตามกรรมวิธี 3 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน ผลการทดลองปี 2554 พบว่า การพ่นสารทุกกรรมวิธีสามารถลดประชากรของตัวเต็มวัยแมลงหวี่ขาวยาสูบได้ ส่วนผลการทดลองในปี 2555 พบว่า การพ่นสาร buprofezin 25%WP สาร white oil 67%EC และสารผสม buprofezin 25%WP + white oil 67%EC แบบ Tank mixed มีประสิทธิภาพสามารถควบคุมประชากรของแมลงหวี่ขาวยาสูบทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย แต่การพ่นสาร imidacloprid 70%WG และ thiamethoxam 25%WG ซึ่งเป็นสารกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ ไม่สามารถป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวได้ หลังการพ่นสาร 3 ครั้ง ติดต่อกันทุก 7 วัน ประชากรแมลงหวี่ขาวทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกลับเพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มมากกว่ากรรมวิธีไม่พ่นสารซึ่งชี้ให้เห็นว่า แมลงหวี่ขาวมีการพัฒนาสร้างความต้านทานต่อสารในกลุ่มนี้แล้ว นอกจากนี้ยังไปทำให้เกิดการระบาดเพิ่ม (Resurgence) ของแมลงหวี่ขาวด้วย