การจัดทำมาตรฐานการประเมินไม้ยางพาราระดับแปลงเกษตรกร เพื่อนำสู่ระบบซื้อขายผ่านตลาดกลาง
#1
การจัดทำมาตรฐานการประเมินไม้ยางพาราระดับแปลงเกษตรกร เพื่อนำสู่ระบบซื้อขายผ่านตลาดกลางไม้ยางพารา
กฤษดา สังข์สิงห์
ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี, สำนักงานตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี, สถาบันวิจัยยาง

การจัดทำมาตรฐานการประเมินไม้ยางพาราระดับแปลงเกษตรกรเพื่อนำสู่ระบบซื้อขายผ่านตลาดกลางไม้ยางพารา ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลจากโรงงานรับซื้อไม้ยางพาราจำนวน 25 โรง และเกษตรกรผู้ยื่นขอทุนสงเคราะห์ปลูกยาง จำนวน 50 ราย ในเขตภาคใต้ตอนบน และดำเนินการจัดตั้งตลาดกลางไม้ยางพาราที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระหว่างปี พ.ศ. 2553-2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานการประเมินมูลค่าไม้ในสวนยางพาราของเกษตรกร สำหรับนำสู่การซื้อขายทางอิเลคทรอนิกส์บนเวบไซต์ของตลาดกลางไม้ยางพารา โดยตลาดกลางไม้ยางพาราจะทำหน้าที่ควบคุม กำกับสัญญาระหว่างผู้ขายไม้กับผู้ประมูลได้ในการเข้าไปดำเนินการตัดโค่นและการเบิกจ่ายเงิน สำหรับรูปแบบของตลาดกลางนี้ใช้ระบบการซื้อขายที่ไม่ต้องนำสินค้าเข้ามาที่ตลาด ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของการขายไม้ผ่านตลาดกลางไม้ยางคือสร้างความเป็นธรรมด้านราคา แก้ปัญหาส่วนเหลื่อมการตลาดที่ต้องผ่านนายหน้า เพิ่มช่องทางการตลาด และลดปัญหาการขาดแคลนไม้ป้อนโรงงานแปรรูปในบางช่วงเวลาการจัดทำชั้นมาตรฐานการประเมินไม้ยางพารา ในโครงการนี้ได้ใช้สมการทางคณิตศาสตร์คือ


ชั้นมาตรฐานไม้ยาง =  {1+  [Ki ((Vi/Vo)-1)] } × 100

เมื่อ Vi คือ ข้อมูลตัวแปรที่ได้จากแปลงยางพารา Vo คือ ข้อมูลมาตรฐานของแต่ละตัวแปร และKi คือ ค่าถ่วงน้ำหนักของแต่ละตัวแปร ผลการสำรวจโรงงานรับซื้อไม้ยางพาราเพื่อหาตัวแปรที่ใช้ในการประเมินมูลค่าไม้ และค่าการถ่วงน้ำหนักตามสมการพบว่า มีจำนวนตัวแปร (n) ที่ต้องนำมาใช้คำนวณทั้งหมด 10 ตัวแปรและได้ค่าถ่วงน้ำหนัก (ดังตัวเลขที่แสดงในวงเล็บ) ดังนี้ 1) ตัวแปรด้านปริมาณไม้มี 5 ตัวแปร คือขนาดเส้นรอบวงลำต้น (47),  ความสูงถึงคาคบ (5), จำนวนต้นต่อไร่ (5), ความสม่ำเสมอขนาดต้น (3),  จำนวนพื้นที่ปลูก (2)  2) ตัวแปรด้านคุณภาพไม้มี 3 ตัวแปรคือสภาพหน้ากรีด (8), พันธุ์ยาง (10),  อายุต้นยาง (5) และ 3) ตัวแปรด้านการจัดการมี 2 ตัวแปรคือการเข้าถึงสวน (7) และ ความยากง่ายในการดำเนินการ (8) โดยผลจากการประเมินสามารถแบ่งชั้นมาตรฐานไม้ยางแบ่งออกเป็น 12 ชั้นมาตรฐานตามปริมาณไม้และข้อจำกัดที่มี คือ ชั้น 1A, 2A, 3A, 4A, 1B, 2B, 3B, 4B, 1C, 2C, 3C, 4C, 1BC, 2BC, 3BC และ 4BC จากนั้นได้นำผลไปทดสอบการจัดชั้นมาตรฐานไม้ยางพาราในแปลงยางพาราที่ได้รับอนุมัติโค่นที่ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี ปรากฏว่าการจัดชั้นมาตรฐานและราคาไม้ที่ประเมินได้ใกล้เคียงกับราคาที่ประมูลได้แบบยื่นซองปกติ อย่างไรก็ตามการจัดชั้นมาตรฐานนี้ยังคงต้องมีการทดสอบและปรับปรุงเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย นอกจากนี้ภายใต้โครงการยังได้พัฒนาโปรแกรมการประมูลไม้ยางพาราระบบอิเลคทรอนิกส์ที่ประกอบด้วยโปรแกรมขับเคลื่อน 10 โปรแกรมย่อย มีการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเพื่อให้บริการเว็บไซต์ประมูลไม้ยางพาราและเว็บไซต์ตลาดกลางในระบบ Co-Location สำหรับการลงทะเบียนผู้ประสงค์ขายไม้ผ่านตลาดกลางไม้ยางพารา และได้ประชาสัมพันธ์ลงทะเบียนผู้ประมูลซื้อไม้ยาง ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการซื้อขายไม้ยางพาราโดยผ่านระบบของตลาดกลางไม้ยางพาราเป็นรูปธรรมและบรรลุตามวัตถุประสงค์ต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   1875_2554.pdf (ขนาด: 187.6 KB / ดาวน์โหลด: 747)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม