11-18-2015, 04:16 PM
ศึกษาอัตราการใช้เชื้อราเขียว Metarhizium anisopliae (Metsch) Sorokin ในการควบคุมหนอนด้วงแรดมะพร้าว
เสาวนิตย์ โพธิ์พูนศักดิ์, อิศเรส เทียนทัด, วิไลวรรณ เวชยันต์ และยุทธนา แสงโชติ
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา และกลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
เสาวนิตย์ โพธิ์พูนศักดิ์, อิศเรส เทียนทัด, วิไลวรรณ เวชยันต์ และยุทธนา แสงโชติ
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา และกลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ศึกษาอัตราการใช้เชื้อราเขียว Metarhizium anisopliae (Metsch) Sorokin ในการควบคุมหนอนด้วงแรดมะพร้าว ได้ทำการวิจัยในช่วงเดือนตุลาคม 2553 - กันยายน 2554 (รวมระยะเวลา 1 ปี) ที่ห้องปฏิบัติการเชื้อราโรคแมลง กลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และแหล่งปลูกมะพร้าวใน 2 พื้นที่ คือ ต.สามเรือน อ.เมืองราชบุรี จ.ราชบุรี และต.โรงหีบ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม โดยดำเนินการดังนี้ นำเชื้อราเขียวของกรมวิชาการเกษตร (DOA) ที่ผ่านการคัดเลือกในห้องปฏิบัติการว่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมหนอนด้วงแรดมะพร้าวมาเลี้ยงขยายเพื่อทดสอบในพื้นที่ที่เตรียมไว้ ศึกษาอัตราการใช้เชื้อที่เหมาะสมต่อหน่วยพื้นที่โดยใช้เชื้อราเขียว DOA ในอัตรา 200, 400, 600, 800 และ 1,000 กรัมต่อถังซีเมนต์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 ซม. สูง 50 ซม. ซึ่งมีความจุ 0.25 ลูกบาศก์เมตร ทำการเปรียบเทียบกับเชื้อราเขียวจากกรมส่งเสริมการเกษตร (DOAE) และการไม่ใส่เชื้อ (control) ตรวจนับเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อราเขียวในวันที่ 14 และ 28 ของการทดลอง ผลการทดสอบทั้ง 3 ครั้ง ที่ จ.ราชบุรี พบเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อราเขียวส่วนใหญ่ในวันที่ 28 ของการทดลอง เปอร์เซ็นต์การติดเชื้อราเขียวทั้ง 3 ครั้งค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่พบน้อยกว่า 50% จากการทดลองครั้งที่ 1 ในวันที่ 28 ของการทดลองมีแนวโน้มการใช้ที่เหมาะสมอยู่ที่อัตรา 200, 400 และ 800 กรัม โดยแสดงเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อไม่แตกต่างกันที่ 13.69, 5.98 และ 5.19% ตามลำดับ การทดลองครั้งที่ 2 ในวันที่ 28 ของการทดลอง พบแนวโน้มการใช้เชื้อราเขียว DOA ที่เหมาะสมอยู่ที่อัตรา 200, 400 และ 600 กรัม โดยมีเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อไม่แตกต่างกันที่ 34.66, 57.12 และ 39.30% ตามลำดับ ส่วนการทดลองครั้งที่ 3 พบเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อไม่แตกต่างกันในทุกอัตราที่ใช้ การติดเชื้อที่ 28 วัน อยู่ในช่วง 14.98 – 28.43% การทดสอบประสิทธิภาพที่ จ.สมุทรสงคราม พบเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อทั้งในวันที่ 14 และ 28 ของการทดลอง โดยพบการติดเชื้อมากที่สุดในวันที่ 28 ของการทดลอง การติดเชื้อราเขียวส่วนใหญ่จะพบมากกว่า 50% ผลการทดลองทั้ง 3 ครั้ง พบเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อราเขียวของ DOA ไม่มีความแตกต่างกันในทุกอัตราที่ใช้ทดสอบ ทั้งในวันที่ 14 และ 28 ของการทดลอง โดยผลการทดลองครั้งที่ 1 การติดเชื้อราเขียวของ DOA ที่ 28 วัน อยู่ระหว่าง 46.89 – 68.96% ซึ่งให้ผลไม่แตกต่างจากเชื้อของ DOAE ที่พบการติดเชื้อที่ 57.06% การทดลองครั้งที่ 2 การติดเชื้อราเขียวของ DOA ที่ 28 วัน อยู่ระหว่าง 64.88 – 83.42% ในขณะที่การติดเชื้อราเขียวของ DOAE อยู่ที่ 62.37% การทดลองครั้งที่ 3 การติดเชื้อราเขียวของ DOA ที่ 28 วัน อยู่ระหว่าง 46.24 – 67.43% ส่วนการติดเชื้อราเขียวของ DOAE อยู่ที่ 58.65% จากผลการทดลองทั้ง 2 พื้นที่พบว่า เชื้อราเขียวสายพันธุ์ DOA มีความเฉพาะเจาะจงและมีแนวโน้มต่อการเกิดโรคกับหนอนด้วงแรดมะพร้าวสูงกว่าเชื้อราเขียวสายพันธุ์ DOAE โดยมีอัตราการใช้เหมาะสมที่ 200 กรัมต่อ 0.25 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังพบว่า สภาพอากาศ อุณหภูมิในกองล่อ และปริมาณเชื้อที่ใส่เป็นปัจจัยซึ่งมีผลต่อการติดเชื้อของหนอนด้วย