11-18-2015, 03:22 PM
การผลิตขยายพันธุ์แตนเบียน Anagyrus lopezi เพื่อควบคุมการระบาด ของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูในจังหวัดกาฬสินธุ์
แคทลิยา เอกอุ่น, นฤทัย วรสถิตย์, นิรันดร์ สุขจันทร์, อิสระ พุทธสิมมา และอาณัติ วัฒนสิทธิ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์
แคทลิยา เอกอุ่น, นฤทัย วรสถิตย์, นิรันดร์ สุขจันทร์, อิสระ พุทธสิมมา และอาณัติ วัฒนสิทธิ์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์
ปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อการผลิตและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบเป็นอย่างมาก การแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีก่อนปลูกร่วมกับการใช้แตนเบียน Anagyrus lopezi ควบคุมศัตรูพืชชนิดนี้เมื่อเริ่มพบการระบาดในแปลง เป็นเทคโนโลยีที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติ และผลักดันให้สัมฤทธิ์ผลโดยจัดทำเป็นโครงการความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร และโครงการรณรงค์ปล่อยแตนเบียน A.lopezi เพื่อควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู เพื่อนำเทคโนโลยีนี้ไปแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์ ได้รับมอบหมายให้ผลิตเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูบนฟักทองเพื่อใช้เลี้ยงขยายแตนเบียน จำนวน 80 ผล ผลิตแตนเบียน A. lopezi จำนวน 35,000 คู่ นำแตนเบียนไปปล่อยในแปลงปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรจำนวน 27 จุด 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 3 สัปดาห์ เพื่อควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และสุ่มเลือกพื้นที่จำนวน 3 จุด เพื่อประเมินผลการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู ผลการดำเนินงานทำให้สามารถผลิตเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูบนฟักทอง จำนวน 700 ผล ส่งมอบแก่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร 16 แห่งทั่วประเทศ และผลิตแตนเบียน A. lopezi นำไปปล่อยในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 27 จุด เพื่อควบคุมพื้นที่ปลูก 99,546 ไร่ รวมทั้งส่งมอบให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดต่างๆ สำหรับใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์แตนเบียน จำนวน 10 ศูนย์ ส่งมอบให้กรมส่งเสริมการเกษตร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแจกจ่ายให้เกษตรกรที่มาขอรับสำหรับไปปล่อยในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 798 ไร่ รวมแตนเบียนทั้งสิ้น 116,200 คู่ ผลการดำเนินงานยังทำให้เกิดการขยายผลเทคโนโลยีการเลี้ยงขยายแตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูสู่วงกว้าง โดยเป็นแหล่งศึกษาดูงานและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านนี้ แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป จำนวน 23 ครั้ง รวม 649 ราย และร่วมกับสถานประกอบการผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังในจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 5 แห่ง ดำเนินการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เกี่ยวกับการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างถูกวิธี มีผู้สนใจเข้าร่วมงานทั้งสิ้น 400 ราย ผลการปล่อยแตนเบียนในแปลงปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกร พบว่าสามารถควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูได้ ทำให้มีจำนวนลดลงอยู่ในระดับ 1 เป็นส่วนใหญ่ คือพบบนต้นมันสำปะหลังเพียงเล็กน้อย (ไม่เกิน 25 ตัวต่อต้น) ผลการดำเนินงานดังกล่าว นอกจากจะบรรลุเป้าหมายแล้วยังประสบความสำเร็จในการให้บริการวิชาการทั้งแก่ภาครัฐและเอกชน สามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ นำไปขยายผลในพื้นที่อื่น และทำให้เกษตรกรในพื้นที่ตระหนักถึงผลกระทบจากการทำลายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู และวิธีการควบคุมที่ถูกต้อง เป็นการขยายผลเทคโนโลยีการใช้แตนเบียน A.lopezi เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งดังกล่าวซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ