พริกอินทรีย์ไทยก้าวไกลสู่ครัวโลก
#1
พริกอินทรีย์ไทยก้าวไกลสู่ครัวโลก
นวลจันทร์  ศรีสมบัติ, พเยาว์  พรหมพันธุ์ใจ, บุญชู  สายธนู, ทิตติยา ธานี, สุภาพร บ้งพรม และพรพรรณ สุทธิแย้ม
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 และศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่

          จังหวัดอุบลราชธานีปลูกพริกฤดูแล้ง เพาะกล้าเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ปลูกในที่ดอนเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ใช้น้ำใต้ดิน เก็บเกี่ยวธันวาคม-พฤษภาคม ดินร่วนปนทราย ประสบปัญหาสารพิษตกค้าง และไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne incognita) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จึงได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพริกเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาระบบการผลิตพริกสู่ระบบการผลิตพืชอินทรีย์ ดำเนินการศึกษา 2 ขั้นตอน 1)การวิจัยในศูนย์วิจัย/สถานี ดำเนินการในปี 2549–2551 ในศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี โดยศึกษาการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปรับปรุงดินก่อนปลูกเพื่อผลิตพริกขี้หนูในระบบอินทรีย์และระบบเคมี วางแผนการทดลองแบบ CRD มี 4 กรรมวิธี 4 ซ้ำ 1.ปุ๋ยหมักแห้ง อัตรา 150 กก./ไร่ 2. ปุ๋ยคอก อัตรา 1,000 กก./ไร่ 3.ปุ๋ยพืชสด (ถั่วพุ่ม) 4.ไม่ใส่ปุ๋ยก่อนปลูก และศึกษาการใช้ปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยหมักปรับปรุงดินก่อนปลูกพริกในระบบอินทรีย์ วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 6 กรรมวิธี 4 ซ้ำ ได้แก่ 1.ถั่วพร้า 2.ถั่วพุ่ม 3.ปุ๋ยหมักจาก PGPR 1 อัตรา 2,000 กก./ไร่ 4.ปุ๋ยหมักจากสารเร่ง พด.1 อัตรา 2,000 กก./ไร่ 5.ปุ๋ยหมักจากเชื้อจุลินทรีย์ EM อัตรา 2,000 กก./ไร่  6.ไม่ใส่ปุ๋ยบำรุงดินก่อนปลูก การดูแลรักษาในระบบเคมีใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี พบว่าในระบบอินทรีย์ค่าความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ แคลเซียมและแมกนีเซียมในดินเพิ่มขึ้น แต่ระบบเคมีมีค่าความเป็นกรด-ด่าง แคลเซียมและแมกนีเซียมในดินลดลง ผลผลิตพริกสดมากที่สุดจากการใช้ปุ๋ยหมักจากเชื้อจุลินทรีย์ PGPRI และปุ๋ยหมักจากสารเร่ง (พด.1) 2)การวิจัยในไร่นาเกษตรกรดำเนินการในปี 2551-2552 โดยพัฒนาเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรและภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับเกษตรกร ในพื้นที่ตำบลหนองเหล่าและตำบลหนองฮาง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วย 2 กรรมวิธี  คือ 1.วิธีปรับปรุง การปลูกพริกโดยใช้ปัจจัยการผลิตอินทรีย์และเทคโนโลยีป้องกันกำจัดโรครากปม 2.วิธีเกษตรกร ใช้ปัจจัยการผลิตเคมี ไม่ป้องกันกำจัดโรครากปม ผลการทดลองพบว่า วิธีปรับปรุง และวิธีเกษตรกร ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,491 และ 2,401 กก./ไร่ ตามลำดับ วิธีปรับปรุงพบดัชนีการเกิดปมระดับ 0.85 ขณะที่วิธีเกษตรกรพบระดับ 4.2 ได้รับการรับรองมาตรฐานพืช GAP ปี 2548 และเกษตรกร 1 รายได้รับมาตรฐานพืชอินทรีย์ปี 2552 ส่งผลผลิตพริกอินทรีย์ไปจำหน่ายต่างประเทศสู่ครัวโลกได้ปีละ 2 ตัน มูลค่ากว่า 320,000 บาท/ไร่ ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าผลผลิตจากระบบการผลิตเคมี 5 เท่า สามารถเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรรายอื่นได้ และในฤดูการผลิตปี 2554/2555 มีการขยายผลการผลิตพริกอินทรีย์สู่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีจำนวน 3 ราย พื้นที่ 7 ไร่ และมีการสร้างเครือข่ายการตลาดร่วมกัน


ไฟล์แนบ
.pdf   1885_2554.pdf (ขนาด: 192.64 KB / ดาวน์โหลด: 1,434)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม