ศึกษารูปแบบการจัดการดินเพื่อการผลิตข้าวในระบบเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มดินเหนียว
#1
ศึกษารูปแบบการจัดการดินเพื่อการผลิตข้าวในระบบเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มดินเหนียว
รมิดา ขันตรีกรม, เพทาย กาญจนเกสร, สรัตนา เสนาะ, กัลยกร โปร่งจันทึก, ผกาสินี คล้ายมาลา และสุรเชษฐ์ นาราภัทร์
กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม และกรมพัฒนาที่ดิน

          ศึกษารูปแบบการจัดการดินเพื่อการผลิตข้าวในระบบอินทรีย์ในกลุ่มดินเหนียว : ชุดดินบางปะอิน ณ แปลงเกษตรกร จังหวัดนครปฐม วัตถุประสงค์เพื่อได้รูปแบบการจัดการดินเพื่อผลิตข้าวให้มีประสิทธิภาพในระบบอินทรีย์ปี 2559 - 2564 วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block (RCB) 5 กรรมวิธี 4 ซ้ำ ประกอบด้วย 1) ฤดูฝนปลูกข้าวปทุมธานี 1 ไม่ใส่ปุ๋ยฤดูแล้งไม่ปลูกถั่วเขียว 2) ฤดูฝนปลูกข้าวปทุมธานี 1 ไม่ใส่ปุ๋ย ฤดูแล้งปลูกถั่วเขียว 3) ฤดูฝนปลูกข้าวปทุมธานี 1 ใส่ปุ๋ยหมัก 4) ปลูกข้าวปทุมธานี 1 ใส่ปุ๋ยพีจีพีอาร์ ทู ฤดูแล้งปลูกถั่วเขียว 5) ปลูกข้าวปทุมธานี 1 ใส่ปุ๋ยหมัก ร่วมด้วยปุ๋ยพีจีพีอาร์ ทู ฤดูแล้งปลูกถั่วเขียว อัตราการใส่ปุ๋ยหมักเทียบเคียงปริมาณธาตุอาหารที่เป็นองค์ประกอบในปุ๋ยหมักกับคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินของข้าว การใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมและพีจีพีอาร์ ทู โดยการคลุกเมล็ดพืชก่อนปลูก และทุกกรรมวิธีที่ปลูกถั่วเขียวใช้ปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม ทำการไถกลบฟางข้าวและต้นถั่วเขียวหลังการเก็บเกี่ยว ผลการทดลองพบว่า กรรมวิธีที่ 5 ฤดูฝนปลูกข้าวร่วมกับใส่ปุ๋ยหมักอัตรา 750 กิโลกรัมต่อไร่โดยน้ำหนักแห้ง ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ ทู และในฤดูแล้งปลูกถั่วเขียวร่วมกับปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียม มีแนวโน้มให้ผลผลิตข้าวและถั่วเขียวเฉลี่ยสูงที่สุดเท่ากับ 379 กิโลกรัมต่อไร่ และผลผลิตถั่วเขียวเฉลี่ยเท่ากับ 125 กิโลกรัมต่อไร่ การปลูกข้าวฤดูฝนและปลูกถั่วเขียวในฤดูแล้งในระบบอินทรีย์ต่อเนื่องและมีการไถกลบต่อซังข้าวและซากต้นถั่วเขียวหลังเก็บเกี่ยวปริมาณอินทรียวัตถุและปริมาณโพแทสเซียมเพิ่มขึ้น

คำสำคัญ: เกษตรอินทรีย์ การจัดการดิน ข้าวอินทรีย์


ไฟล์แนบ
.pdf   10. ศึกษารูปแบบการจัดการดินเพื่อการผลิตข้าวในระบบเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มดินเหนียว.pdf (ขนาด: 556.46 KB / ดาวน์โหลด: 630)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม