03-23-2017, 03:28 PM
การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตผักชีฝรั่งโดยวิธีผสมผสานให้ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างเชื้อจุลินทรีย์ และแมลงศัตรูพืชในพื้นที่จังหวัดนครปฐม
เพทาย กาญจนเกษร, อดุลย์รัตน์ แคล้วคลาด, สุภัค แสงทวี, ศิริจันทร์ อินทร์น้อย, กุลวดี ฐานกาญจน์ และรพีพร ศรีสถิต
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3
เพทาย กาญจนเกษร, อดุลย์รัตน์ แคล้วคลาด, สุภัค แสงทวี, ศิริจันทร์ อินทร์น้อย, กุลวดี ฐานกาญจน์ และรพีพร ศรีสถิต
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3
การทดสอบเทคโนโลยีการผลิตผักชีฝรั่งโดยใช้วิธีการจัดการแมลงศัตรูพืชในการผลิตด้วยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management (IPM) ให้ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง และแมลงศัตรูพืชในจังหวัดนครปฐมทำการทดลองในแปลงผักชีฝรั่งของเกษตรกร อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จำนวน 5 ราย โดยตรวจนับตัวอ่อนของแมลงหวี่ขาวยาสูบและเพลี้ยแป้ง เมื่อผักชีฝรั่งมีอายุประมาณ 4, 8, 10, 12, 14 และ 16 สัปดาห์หลังหว่านเมล็ด บันทึกจำนวนตัวอ่อนของแมลงหวี่ขาว และเพลี้ยแป้งที่พบ ดำเนินการป้องกันและกำจัดเมื่อพบการระบาดของแมลงศัตรูพืชทั้งสองชนิด เปรียบเทียบผลการป้องกันกำจัดโดยวิเคราะห์จำนวนตัวอ่อนของแมลงหวี่ขาวและเพลี้ยแป้งในแต่ละครั้งที่ตรวจนับ จากผลการทดลองพบว่า ในแปลงปลูกผักชีฝรั่งส่วนใหญ่จะพบแมลงหวี่ขาวและเพลี้ยแป้ง เข้าทำลายตั้งแต่ผักชีฝรั่งมีอายุประมาณ 8 สัปดาห์ ทำให้ใบมีลักษณะหงิกงอไม่เหมาะสมต่อการจำหน่าย เมื่อเข้าสำรวจจะพบตัวเต็มวัยและตัวอ่อนเกาะอยู่บริเวณด้านหลังใบของผักชีฝรั่ง การจัดการแมลงศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) แม้จะไม่ทำให้ค่าเฉลี่ยของแมลงศัตรูพืชในช่วงระยะเวลาการให้ผลผลิตลดลงมากนัก แต่จากการสำรวจในสัปดาห์ที่ 16 พบว่าสามารถช่วยลดจำนวนตัวอ่อนของแมลงหวี่ขาวและเพลี้ยแป้งให้น้อยลงได้ ดังนั้นจะเห็นว่าการใช้วิธีผสมผสาน (IPM) ในการดูแลรักษาแปลงผักชีฝรั่งอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงการผลิตผักชีฝรั่งทำให้การเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืชลดน้อยลง นอกจากนี้การใช้สารชีวินทรีย์ เช่น บิวเวอเรีย (บูเวเรียบัสเซียน่า (Beauveria Bassiana) ยังสามารถลดสารพิษตกค้างในผักชีฝรั่ง ทำให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค