02-17-2017, 02:13 PM
การศึกษาวัสดุปลูกทดแทนกาบมะพร้าว ในกล้วยไม้กระถาง (สกุลหวาย) เพื่อการส่งออก
นายนุกูล อ่อนนิ่ม, กุลธิดา ดอนอยู่ไพร, กฤชพร ศรีสังข์, วิลาวรรณ ไชยบุตร, เยาวภา เต้าชัยภูมิ และพุทธธินันทร์ จารุวัฒน์
กลุ่มวิชาการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ (เขาค้อ) และศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี
นายนุกูล อ่อนนิ่ม, กุลธิดา ดอนอยู่ไพร, กฤชพร ศรีสังข์, วิลาวรรณ ไชยบุตร, เยาวภา เต้าชัยภูมิ และพุทธธินันทร์ จารุวัฒน์
กลุ่มวิชาการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเพชรบูรณ์ (เขาค้อ) และศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี
การศึกษาวัสดุปลูกทดแทนกาบมะพร้าวในกล้วยไม้กระถาง (Pot Plant) เป็นการมุ่งเน้นที่ศึกษาเพื่อหาความเหมาะสมของวัสดุปลูกกับพันธุ์ของกล้วยไม้สกุลหวายเพื่อการส่งออกที่อายุปลูกประมาณ 8 เดือน ซึ่งมีข้อจำกัดเกี่ยวกับวัสดุปลูกในกล้วยไม้ต้น และกล้วยไม้กระถางที่ประเทศไทย มีการใช้กาบมะพร้าวเป็นวัสดุปลูก เมื่อส่งออกจะพบปัญหาหลายอย่างทั้งโรคแมลง และวัชพืช ที่มีติดไปกับวัสดุปลูก แต่จากการศึกษากล้วยไม้ที่ส่งออกจะเจริญอยู่ในช่วงใกล้ออกดอก หรือกำลังแทงตาดอก (near booming) ฉะนั้นความสมบูรณ์ของลำลูกกล้วย และใบ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรูปลักษณ์ของการส่งออก วัสดุปลูกชนิดแรกที่เหมาะสมกับช่วงนี้คือ ถ่าน เพราะสามารถใช้เป็นวัสดุปลูกเพียงเพื่อการค้ำยันลำต้น ไม่พบปัญหาเรื่องโรค แมลง และวัชพืช และส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืช ในด้านความกว้าง ความหนาของลำลูกกล้วยเก่า จำนวนลำลูกกล้วย รวมถึงความกว้างและความยาวของใบก่อนออกดอก เมื่อใช้เป็นวัสดุปลูกกับกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์ดอกสีขาว (พันธุ์ 5 N) และวัสดุปลูกชนิดที่ 2 ที่เหมาะสมคือ โฟม เป็นวัสดุปลูกที่หาได้ง่าย พบเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน มีความเหมาะสมที่ใช้เป็นวัสดุปลูกในการประคองลำต้นกล้วยไม้สกุลหวาย และไม่พบปัญหาในเรื่องโรค แมลง และวัชพืชเช่นเดียวกับถ่าน และส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืช เมื่อใช้เป็นวัสดุปลูกกับกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์ดอกสีแดง (เฮียสกุล) และพันธุ์ดอกสีเหลือง (เหลือง 246) แต่ก็พบว่าจากการศึกษาวัสดุปลูกทั้ง 6 ชนิด เมื่อปลูกเข้าปีที่ 2 ของงานวิจัย ความสูงของต้นเก่า จำนวนราก จำนวนหน่อ และความสูงของหน่อใหม่ วัสดุปลูกทั้ง 6 ชนิด ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน และจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ จึงสามารถเลือกใช้วัสดุปลูกชนิดใดก็ได้ที่สามารถหาได้ง่าย เหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม หรือมีราคาถูก ได้ตามความเหมาะสม