02-01-2017, 02:01 PM
วิจัยและพัฒนาโรงอบแห้งพลังงานร่วมสำหรับการผลิตลำไยอบแห้งสีทอง
ชัยวัฒน์ เผ่าสันทัดพาณิชย์, สนอง อมฤกษ์, เกรียงศักดิ์ นักผูก, สถิตย์พงศ์ รัตนคำ, ธีรศักดิ์ โกเมฆ, ปรีชา ชมเชียงคำ และเวียง อากรชี
ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น
ชัยวัฒน์ เผ่าสันทัดพาณิชย์, สนอง อมฤกษ์, เกรียงศักดิ์ นักผูก, สถิตย์พงศ์ รัตนคำ, ธีรศักดิ์ โกเมฆ, ปรีชา ชมเชียงคำ และเวียง อากรชี
ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น
งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิจัยพัฒนาปรับปรุงโรงอบแห้งแบบพื้นบ้านให้มีประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงานความร้อน และช่วยลดระยะเวลาในการอบแห้ง รวมทั้งมีการประยุกต์ใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์เพื่อสำรองใช้ร่วมในกระบวนการอบแห้ง โดยปรับปรุงพัฒนาและสร้างเป็นโรงอบแห้งพลังงานร่วมสำหรับการผลิตลำไยอบแห้งสีทอง ได้ต้นแบบโรงอบแห้งลำไยเนื้อสีทองแบบพัฒนา ห้องอบแห้งขนาดเฉลี่ย (กว้าง x ยาว x สูง) 2.50 x 3.50 x 2.80 เมตร ใช้ผนัง เพดาน และบานประตู เป็นวัสดุแผ่นยิบซั่มบอร์ดหนา 9 มิลลิเมตร ซึ่งถูกหุ้มปิดหน้าหลังด้วยแผ่นเมทัลชีท หนา 0.35 มิลลิเมตร มีแหล่งกำเนิดความร้อน ใช้เตาฟืนแบบปรับปรุงชนิดหัวเตาเดี่ยว มีฝาเหล็กปิดหน้าเตา ติดตั้งท่อลมเป่าอากาศ ภายในหัวเตาใช้ท่อต้นไฟจำนวน 2 ช่อง ต่อด้วยท่อแลกเปลี่ยนความร้อนขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.29 เมตร ต่อทอดยาวไปตามพื้นห้องอบแห้ง แล้ววกกลับมาต่อเชื่อมกันด้วยข้อต่อสามทาง ทะลุผ่านผนังออกเป็นท่อปล่องควัน มีระบบการกระจายลมร้อนให้สม่ำเสมอในการอบแห้ง ด้วยพัดลมแบบใบพัดตรง ขนาด 24 นิ้ว จำนวน 6 ตัว และมีระบบการระบายอากาศชื้นออกทางด้านบนห้องอบแห้ง มีโรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์แบบ สวศ. ขนาดเฉลี่ย (กว้าง x ยาว x สูง) 6.00 x 6.00 x 2.70 เมตร เป็นแหล่งพลังงานความร้อนร่วม เพื่อนำพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ มาสำรองใช้ร่วมในกระบวนการอบแห้งเนื้อลำไย จากผลการทดสอบการอบแห้งเนื้อลำไยสดด้วยโรงอบแห้งลำไยเนื้อสีทองแบบพัฒนาที่ปริมาณ 500 กิโลกรัม ความชื้นเริ่มต้น 86.46% จนเหลือความชื้นสุดท้าย 18.91% พบว่าใช้ระยะเวลาในการอบแห้งนาน 10 ชั่วโมง ซึ่งดีกว่าโรงอบแห้งลำไยเนื้อสีทองแบบพื้นบ้าน คือ เร็วขึ้น 4 ชั่วโมง และพบว่าอัตราค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงไม้ฟืนสำหรับพลังงานความร้อน มีอัตราค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิง 0.50 บาทต่อกิโลกรัมสด ซึ่งก็ถูกกว่าโรงอบแห้งลำไยเนื้อสีทองแบบพื้นบ้าน คือ ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 0.41 บาทต่อกิโลกรัมสด หรือประหยัดถึง 410 บาทต่อตันเนื้อลำไยสด