การศึกษาการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยปาล์มน้ำมันกับพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตในภาคใต้ตอนบน
#1
การศึกษาการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยปาล์มน้ำมันกับพื้นที่ที่มีศักยภาพการผลิตในภาคใต้ตอนบน
วิชนีย์ ออมทรัพย์สิน, ปัญจพร เลิศรัตน์, ชัชธนพร เกื้อหนุน, ทิวาพร ผดุง, สุปรานี มั่นหมาย, ณัฐพร ประคองเก็บ, ปิยะนันท์ วิวัฒน์วิทยา, ฤทธิ์ เอี่ยนเล่ง, เกริกชัย ธนรักษ์  และสุภัทรดิศ เผ่าวิหค
ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฏร์ธานี สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชพลังงาน, กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร และสหกรณ์นิคมท่าแซะจำกัด

          ปาล์มน้ำมันเป็นพืชหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีอาเซียน เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าผู้ผลิตอื่น  และเนื่องจากต้นทุนการผลิตของปาล์มน้ำมันประมาณ 40% เป็นค่าใช้จ่ายปุ๋ย  การลดปริมาณการให้ปุ๋ยเคมีที่เกินจำเป็นโดยใช้เกณฑ์การความต้องการธาตุอาหารพืชจากระดับความสมบูรณ์ของดินที่เฉพาะเจาะจง ร่วมกับค่าวิเคราะห์ใบและผลผลิต  นับเป็นทางเลือกการจัดการปุ๋ยอีกวิธีหนึ่ง จึงได้ดำเนินการประเมินอัตราการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและผลผลิตพืชร่วมกับปริมาณธาตุอาหารที่ควรชดเชยที่ถูกดูดดึงออกไปโดยการเก็บเกี่ยวผลผลิต  และการสูญเสียธาตุอาหารจากขบวนการต่างๆ ในดิน แปลงเกษตรกรสหกรณ์นิคมท่าแซะจำกัด อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ในระหว่างปี 2554 - 2557เปรียบเทียบกับการจัดการปุ๋ยตามที่เกษตรกรปฏิบัติ นอกจากนั้นได้ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีบางส่วนด้วยการใส่จุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต  และการใส่กากสะเดาเพื่อชะลอการสูญเสียปุ๋ย  ผลการประเมินการเจริญเติบโต  จำนวนทะลายปาล์มสด  น้ำหนักทะลายปาล์ม หลังจากการจัดการปุ๋ยแบบต่างๆ ติดต่อกัน 3 ฤดูกาลผลิต พบว่าการจัดการให้ปุ๋ยทั้ง 4 กรรมวิธี มีการเจริญเติบโตทางกิ่งก้านสมบูรณ์ไม่แตกต่างกัน  แต่จากการประเมินผลผลิตทะลายปาล์มสดพบว่า การจัดการปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใบและผลผลิต  มีแนวโน้มให้จำนวนทะลายปาล์มสดไม่แตกต่างจากกรรมวิธีควบคุม คือ 17.71 และ 17.81 ทะลายต่อปี  แต่ให้น้ำหนักทะลายปาล์มสดเฉลี่ยทั้ง 3 ฤดูกาล ผลิตสูงกว่ากรรมวิธีควบคุม โดยมีค่าเฉลี่ยคือ 235.90 และ 221.29 กก./ต้น/ปี ตามลำดับ และเนื่องจากมีการลดปริมาณการใส่ปุ๋ยลงด้วย  จึงส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายปุ๋ยเคมีได้ ประมาณ 12 - 16  เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีดัชนีผลตอบแทนการผลิตสูงกว่ากรรมวิธีควบคุม คือ 3.26 และ 2.58 ตามลำดับ  ซึ่งการลดปริมาณการใส่ปุ๋ยลงระดับนี้ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางกิ่งก้าน การให้ผลผลิตและความสมบูรณ์ดินยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตได้ดี


ไฟล์แนบ
.pdf   57_2557.pdf (ขนาด: 314.21 KB / ดาวน์โหลด: 1,235)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม