การพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพริกและพืชผักเศรษฐกิจที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
#1
การพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการผลิตพริกและพืชผักเศรษฐกิจที่เหมาะสมในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
นันทิการ์ เสนแก้ว, อภิญญา สุราวุธ และกลอยใจ คงเจี้ยง
สํานักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 8 จังหวัดสงขลา  และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง

ทดสอบเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีในการผลิตพริกในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
นันทิการ์ เสนแก้ว

          จากการทดสอบการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีในการผลิตพริกในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง มีวัตถุประสงค์เพื่อได้เทคโนโลยีการผลิตพริกโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีในการปลูกพริกพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยดําเนินการทดสอบที่แปลงเกษตรกรอําเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ระหว่างเดือนตุลาคม 2556 ถึงเดือนกันยายน 2558 การทดลองประกอบด้วย 3 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีที่ 1 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตราแนะนํา (ตามคําแนะนําของกรมวิชาการเกษตร) กรรมวิธีที่ 2 ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 1 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีครึ่งอัตราแนะนํา กรรมวิธีที่ 3 แบบเกษตรกร (ใส่ปุ๋ยตามกรรมวิธีเกษตรกร) ผลการทดลองพบว่า การใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 1 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีครึ่งอัตราแนะนํา มีแนวโน้มทําให้ต้นพริกขี้หนูเจริญเติบโตด้านความสูงและความกว้างทรงพุ่มต้นพริกได้ดีกว่า กรรมวิธีที่ 1 ใส่ปุ๋ยเคมีอัตราแนะนํา และกรรมวิธีที่ 3 วิธีเกษตรกร (ใส่ปุ๋ยตามวิธีเกษตรกร) ส่วนผลผลิตพริกสดพบว่า ทั้ง 3 กรรมวิธี ให้ผลผลิตไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยกรรมวิธีที่ 1 ผลผลิตเฉลี่ย 650 และ 764 กิโลกรัม/ไร่ กรรมวิธีที่ 2 ผลผลิตเฉลี่ย 659 และ 787 กิโลกรัม/ไร่ และกรรมวิธีที่ 3 ผลผลิตเฉลี่ย ผลผลิตเฉลี่ย 712 และ 793 กิโลกรัม/ไร่ ในปีที่ 1 และ 2 ตามลําดับ ส่วนต้นทุนผันแปรที่เป็นเงินสด กรรมวิธีที่ 1 จะมีต้นทุนการผลิตต่ำสุดในปีที่ 1 และ 2 เฉลี่ย 8,615, และ 8,097 บาท/ไร่ ตามลําดับ และทําให้เกษตรกรมีรายได้เหนือต้นทุนผันแปรที่เป็นเงินสดสูงกว่ากรรมวิธีที่ 2 และกรรมวิธที่ 3 ในปีที่ 1 และ 2 เฉลี่ย 10,890 และ 14,833 บาท/ไร่ ตามลําดับ เมื่อพิจารณาถึงอัตราผลตอบแทนต่อการลงทุน (BCR) กรรมวิธีที่ 2 ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 1 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีครึ่งอัตราแนะนํา จะมีค่าน้อยกว่าเนื่องจากต้นทุนการปลูกพริกจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สูงกว่ากรรมวิธีที่ 1 และกรรมวิธีที่ 3 ไปในทิศทางเดียวกันทั้ง 2 ปี อย่างไรก็ตามถ้าเกษตรกรมีแนวทางในการทําปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง ก็สามารถลดต้นทุนด้านปุ๋ยอินทรีย์ในการปลูกพริกได้

ศึกษาการระบาดของศัตรูพืชภายใต้ความแปรปรวนของภูมิอากาศในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
นันทิการ์ เสนแก้ว, อภิญญา สุราวุธ และกลอยใจ คงเจี้ยง

          การศึกษาการระบาดของศัตรูพริกภายใต้ความแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศในพื้นที่จังหวัดพัทลุง เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพริกภายใต้ความแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศในพื้นที่ จังหวัดพัทลุง ดําเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2556 – กันยายน 2558 ศึกษาการระบาดของศัตรูพริก 2 พันธุ์ (พริกขี้หนูพันธุ์พริกชี และพริกชี้ฟ้า) ในแต่ละช่วงอายุตั้งแต่เพาะกล้า หลังย้ายกล้าถึงออกดอก ออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยว และปลายฤดูเก็บเกี่ยว ในพื้นที่อําเภอเมือง และอําเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง พบว่าการระบาดของศัตรูพริกในแต่ละช่วงการเจริญเติบโตของพืชต่างกันระดับความรุนแรงในการระบาดของศัตรูพริกต่างกัน โดยในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวพบศัตรูพืชมากที่สุด และพบว่าในพื้นที่อําเภอเมือง ระดับความรุนแรงในการระบาดศัตรูพริกสูงกว่าอําเภอควนขนุน โดยพบการระบาดของเพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน ไรขาว หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะสมอฝ้าย โรคเหี่ยวเหลือง (Fusarium sp.) โรคเหี่ยวเขียว (Ralstonia sp.) โรครากเน่าและโคนเน่า (Sclerotium sp.) อาการใบด่างจากเชื้อไวรัส ใบจุดตากบ และโรคแอนแทรคโนส (Colletotrichum sp.) ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวจะพบปัญหาการระบาดของโรคแอนแทรคโนสรุนแรงในทุกพื้นที่ และพบว่าพริกชี้ฟ้าจะอ่อนแอต่อโรคแอนแทรคโนสมากกว่าพริกขี้หนู (พันธุ์พริกชี) นอกจากนี้ยังพบการทําลายร่วมกันระหว่างเชื้อ Fusarium sp. และ Sclerotium sp.ส่งผลให้เปอร์เซ็นต์การตายของพริกสูง การศึกษาช่วงเวลาการระบาดของแมลงวันผลไม้ (Bactrocera sp.) และเพลี้ยไฟพบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนพบการระบาดของแมลงวันผลไม้มากที่สุด และในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมพบการระบาดของเพลี้ยไฟมากที่สุด อย่างไรก็ตามสภาพอากาศ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อความรุนแรงในการระบาดของศัตรูพืช ระยะการเจริญเติบโตของพืชก็เป็นตัวกระตุ้นให้ศัตรูพืชแต่ละชนิดเข้าทําลาย ระยะปลูก สภาพพื้นที่ปลูก ความอุดมสมบูรณ์ของดินที่แตกต่างกัน มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ศัตรูธรรมชาติ ตัวห้ำ ตัวเบียน นอกจากนี้การจัดการของเกษตรกรเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สําคัญที่มีผลต่อการระบาด เช่น การใส่ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากในระยะกล้าทําให้ต้นพริกอ่อนแอ ศัตรูพืชเข้าทําลายได้ง่าย

          การศึกษาการระบาดของศัตรูพริกภายใต้ความแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศในพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพริกภายใต้ความแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศในพื้นที่จังหวัดสงขลา ดําเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2556 – กันยายน 2558 ศึกษาการระบาดของศัตรูพริก 2 พันธุ์ (พริกขี้หนูพันธุ์พริกชี และพริกขี้หนูดวงมณี) ในแต่ละช่วงอายุตั้งแต่เพาะกล้า หลังย้ายกล้าถึงออกดอก ออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยว และปลายฤดูเก็บเกี่ยว ในพื้นที่ อําเภอควนเนียง และอําเภอระโนด จังหวัดสงขลา พบว่าการระบาดของศัตรูพริกในแต่ละช่วงการเจริญเติบโตของพืชต่างกันระดับความรุนแรงในการระบาดของศัตรูพริกต่างกัน และในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวพบศัตรูพืชมากที่สุด โดยพบว่าในพื้นที่อําเภอควนเนียง มีจํานวนชนิดของศัตรู และความรุนแรงในการระบาดของศัตรูพริกมากกว่าในพื้นที่อําเภอระโนด โดยพบการระบาดของเพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อนไรขาว หนอนกระทู้ผัก แมลงหวี่ขาว เพลี้ยหอย โรคเหี่ยวเหลือง (Fusarium sp.) โรครากเน่าและโคนเน่า (Sclerotium sp.) อาการใบด่างจากเชื้อไวรัส ใบจุดตากบ ใบจุดจากเชื้อแบคทีเรียยอดเน่า และโรคแอนแทรคโนส (Colletotrichum sp.) ในขณะที่ในพื้นที่ อําเภอระโนด ไม่พบการระบาดของแมลงหวี่ขาว เพลี้ยหอย ใบจุดจากเชื้อแบคทีเรียในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวจะพบปัญหาการระบาดของโรคแอนแทรคโนสรุนแรงในทุกพื้นที่และพบว่าพริกขี้หนูพันธุ์พริกชีอ่อนแอต่อโรคแอนแทรคโนสมากกว่าพริกขี้หนูดวงมณีนอกจากนี้ในพื้นที่ อําเภอควนเนียง พบการทําลายร่วมกันระหว่างเชื้อ Fusarium sp. และ Sclerotium sp. ส่งผลให้เปอร์เซ็นต์การตายของพริกสูง การศึกษาช่วงเวลาการระบาดของแมลงวันผลไม้ (Bactrocera sp.) และเพลี้ยไฟ (Scirtothrips sp.) พบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนพบการระบาดของแมลงวันผลไม้มากที่สุด และในช่วงเดือนพฤษภาคม พบการระบาดของเพลี้ยไฟมากที่สุด อย่างไรก็ตามสภาพอากาศ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อความรุนแรงในการระบาดของศัตรูพืช ระยะการเจริญเติบโตของพืชก็เป็นตัวกระตุ้นให้ศัตรูพืชแต่ละชนิดเข้าทําลาย ระยะปลูก สภาพพื้นที่ปลูก ความอุดมสมบูรณ์ของดินที่แตกต่างกัน มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ศัตรูธรรมชาติ ตัวห้ำ ตัวเบียน นอกจากนี้การจัดการของเกษตรกรเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สําคัญที่มีผลต่อการระบาด เช่น การใส่ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากในระยะกล้าทําให้ศัตรูพืชเข้าทําลาย

          การศึกษาการระบาดของศัตรูพริกภายใต้ความแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศในพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพริกภายใต้ความแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศในพื้นที่ จังหวัดตรังดําเนินการระหว่างเดือน ตุลาคม 2556 – กันยายน 2558 ศึกษาการระบาดของศัตรูพริกขี้หนู (พริกขี้หนูพันธุ์พริกชี) ในแต่ละช่วงอายุตั้งแต่เพาะกล้า หลังย้ายกล้าถึงออกดอก ออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยว และปลายฤดูเก็บเกี่ยว ในพื้นที่อําเภอหาดสําราญ และ อําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง พบว่าการระบาดของศัตรูพริกในแต่ละช่วงการเจริญเติบโตของพืชต่างกันระดับความรุนแรงในการระบาดของศัตรูพริกต่างกัน และในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวพบศัตรูพืชมากที่สุด โดยพบว่าในพื้นที่อําเภอหาดสําราญ มีจํานวนชนิดของศัตรู และความรุนแรงในการระบาดของศัตรูพริกมากกว่าในพื้นที่อําเภอปะเหลียน โดยพบการระบาดของเพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อนไรขาว หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะสมอฝ้าย แมลงหวี่ขาวเพลี้ยหอย โรคเหี่ยวเหลือง (Fusarium sp.) โรคเหี่ยวเขียว (Ralstonia sp.) โรครากเน่าและโคนเน่า (Sclerotium sp.) อาการใบด่างจากเชื้อไวรัสยอดเน่า ใบจุดตากบ และโรคแอนแทรคโนส (Colletotrichum sp.) ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวจะพบปัญหาการระบาดของโรคแอนแทรคโนสรุนแรงในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ในพื้นที่อําเภอหาดสําราญ พบการทําลายร่วมกันระหว่างเชื้อ Fusarium sp. และ Sclerotium sp. ส่งผลให้เปอร์เซ็นต์การตายของพริกสูง การศึกษาช่วงเวลาการระบาดของแมลงวันผลไม้ (Bactrocera sp.) และเพลี้ยไฟพบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม พบการระบาดของแมลงวันผลไม้มากที่สุด และในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ พบการระบาดของเพลี้ยไฟมากที่สุด อย่างไรก็ตามสภาพอากาศ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อความรุนแรงในการระบาดของศัตรูพืช ระยะการเจริญเติบโตของพืชก็เป็นตัวกระตุ้นให้ศัตรูพืชแต่ละชนิดเข้าทําลาย ระยะปลูก สภาพพื้นที่ปลูก ความอุดมสมบูรณ์ของดินที่แตกต่างกัน มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ศัตรูธรรมชาติ ตัวห้ำ ตัวเบียน นอกจากนี้การจัดการของเกษตรกรเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สําคัญที่มีผลต่อการระบาด เช่น การใส่ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากในระยะกล้าทําให้ศัตรูพืชเข้าทําลาย


ไฟล์แนบ
.pdf   160_2558.pdf (ขนาด: 1.84 MB / ดาวน์โหลด: 2,459)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม